มทร.ธัญบุรีสร้างสุขภาวะ ชุมชนวัดปัญญานันทาราม

คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพสำหรับพระภิกษุ สามเณร ประเมินภาวะสุขภาพ จัดทำ ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ พัฒนารูปแบบห้องพยาบาลและให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดี เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี
นางสุวิมล พนาวัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ด้วยความร่วมมือและความต้องการของทางวัดปัญญาฯ ประกอบ กับความพร้อมของทางคณะ จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย จัดกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพสำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และเจ้าหน้าที่จิตอาสา
“เราลงพื้นที่ร่วมกับนักศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ตรวจและประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้น การรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพ การโภชนาการและการเผาผลาญ การขับถ่าย การออกกำลังกาย การพักผ่อน การจัดการความเครียด รวมถึงการตรวจร่างกาย เพื่อการจัดทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพต่อไป
ขณะเดียวกันยังได้พัฒนารูปแบบห้องพยาบาลใหม่ตามมาตรฐานห้องพยาบาล จัดทำคู่มือการใช้ยา อบรมภาคปฏิบัติการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน การทำน้ำเกลือแร่ การดูแลอุบัติเหตุเบื้องต้น ห้องพยาบาล ที่ดีและมีมาตรฐาน ส่วนหนึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการยาที่ดี เพราะยามีวันหมดอายุ และต้องวางแผนการใช้ยาอย่างมีประสิทธิ ภาพ โครงการในครั้งนี้ มั่นใจว่าภาวะสุขภาพคนในวัดปัญญาฯ จะดียิ่งขึ้น” นางสุวิมลกล่าว
นางเสาวลักษณ์ เล็กอุทัย อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ห้องพยาบาลจะต้องมีข้อมูลทะเบียนผู้ใช้บริการ ข้อมูลคลังยา รายงานสรุปข้อมูล ข้อมูลสำหรับการส่งต่อเพื่อการรักษา รู้สึกดีใจที่ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิชาชีพที่เรามี และได้ร่วมกันแบ่งสัดส่วนห้องพยาบาลใหม่เพื่อความเหมาะสม “หลายคนมีความเชื่อในทิศทางเดียวกันว่าการทำบุญด้วยยาเป็นการถ่ายเททุกข์โศกโรคภัย แต่จะดีกว่านั้นหากใส่ใจถึงความต้องการของทางวัดและคุณภาพยา”
ด้าน นางปัฐมาภรณ์ ราชวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี เล่าว่า นักศึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยกว่า 60 คน เข้าร่วมโครงการ โดยทำกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม คือการตรวจและประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้น และอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพเช่น ธาตุเจ้าเรือน การกินอาหารตามธาตุ การอบสมุนไพรที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการรักษา โดยส่วนใหญ่จะพบปัญหาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลังเป็นส่วนใหญ่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ภาพรวมทั้งหมดในโครงการ ถือว่าประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหมายและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางวัดปัญญาฯ
“การเชื่อมถึงกันระหว่างวัดและมหาวิทยาลัยสำหรับโครงการครั้งนี้ เป็นการเชื่อมโยงส่งต่อความรู้ เป็นการสร้างความผูกพันของสถานที่ เป็นการเพิ่มและปลูกฝังทักษะทางสังคมของนักศึกษา อันจะสร้างประสบ การณ์ในชีวิตที่ดี” นางปัฐมาภรณ์กล่าวสรุป
ขณะที่ตัวแทนจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยที่ร่วมโครงการ นายธนากร เจริญพิบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมในลักษณะนี้ ได้ใช้ความรู้ในด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เรียนมา “บางครั้งการเข้าวัดไม่ได้มาตามหาความสบายใจกลับไปอย่างเดียว แต่สามารถส่งต่อความรู้เพื่อทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในวัดได้ เช่นกัน”
ส่วน น.ส.วรรณิศา นุ่มประเสริฐ  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ได้ร่วมทำความสะอาดและจัดแต่งห้องพยาบาล ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ และได้ร่วมให้ความรู้ธาตุเจ้าเรือน การดูแลตนเองตามหลักธาตุเจ้าเรือน ซึ่งเป็นการนำความรู้ที่ได้ศึกษามาเผยแพร่ต่อไป และเป็นการทบทวนความรู้ให้กับตนเองอีกด้วย
“เมื่อเรียนจบและมีประสบการณ์มาก ยิ่งขึ้นด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตั้งใจว่าจะเปิดคลินิกเพื่อส่งเสริมและให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในราคาที่เหมาะสม โดยเป็นราคาที่ประชาชนยอมรับได้และเราเองก็อยู่ได้ จะได้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้านการดูแลสุขภาพ” น.ส.วรรณิศากล่าว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]