ปั้นคนป้อนธุรกิจบริการขนส่ง

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Mr.J
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับมือ มทร.ธัญบุรี พัฒนากำลังคนในธุรกิจ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและ โลจิสติกส์ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันและปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า
รศ.ดร.ประเสริฐ  ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ปัจจุบันกำลังได้รับแรงกดดันจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง และคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการที่เหนือกว่า มีความได้เปรียบในด้านทุน ระบบสนับสนุนและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษาและร่วมกันพัฒนากำลังคน ในชื่อโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (ระยะที่ 3)
เป้าหมายหลักของโครงการ ประการแรกเพื่อยกระดับบุคลากรในธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ โดยจัดให้มีการพัฒนาความรู้ของผู้ประกอบการขนส่งผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะวิชาชีพที่มีการฝึกอบรมแบบเข้มข้น มีชุดฝึกอบรมที่มีมาตรฐานเพื่อใช้เป็นหลักสูตรต้นแบบต่อไป และประการที่สองเพื่อพัฒนาบุคลากรจากสถานประกอบการให้มีศักยภาพ และสามารถเป็นวิทยากรต่อไป ซึ่งจะทำให้พัฒนาบุคลากรได้อย่างต่อเนื่องและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
มทร.ธัญบุรี จึงได้พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ สาขาจัดการขนส่ง รวมถึงผ่านการระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จนสำเร็จเป็นหลักสูตรที่ทันสมัยสำหรับใช้ในการอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตร”
หลักสูตรฝึกอบรมผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนและโลจิสติกส์ทั้งหมด แบ่งเป็นระดับต้น คือหลักสูตรการรับและส่งมอบสินค้าจากการขนส่งสินค้าทางถนนและหลักสูตรพื้นฐานการจัดการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับกลาง ได้แก่ หลักสูตรเทคนิคและวิธีการควบคุมยานพาหนะในการขนส่งสินค้าทางถนน และหลักสูตรแนวทางป้องกันและแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่งสินค้าทางถนน และระดับสูง ได้แก่ หลักสูตรการวางแผนและการควบคุมการขนส่งสินค้าทาง ถนน และหลักสูตรการบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน นอกจากนั้นยังได้พัฒนาเอกสารประกอบ การฝึกอบรม และพัฒนาวิทยากรต้นแบบหรือผู้ฝึก (Train the Trainers) โดยคัดเลือกจาก ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพด้านขนส่งระดับหัวหน้างานขึ้นไป เข้าฝึกอบรมเทคนิคการเป็นโค้ชเพื่อให้มีสมรรถนะด้านครูฝึก เพื่อเป็นวิทยากรฝึกอบรม ให้กับผู้ประกอบอาชีพต่อไปตามเป้าหมายของโครงการ
ขณะเดียวกัน ยังมีการติดตามและการประเมินผลภายหลังฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น การประเมินด้านการตอบสนองด้านการเรียนรู้ ด้านพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และผลลัพธ์ที่เกิดต่อองค์กร ซึ่งจากผลการประเมินทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากทุกด้าน แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรที่พัฒนาในโครงการเกิดผลลัพธ์ในทิศทางที่ดี สามารถนำ ไปใช้กับผู้ประกอบการในธุรกิจผู้ให้บริหารขนส่ง เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อันจะช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโต แข็งแกร่ง สามารถยืนหยัดอย่างมีศักยภาพในอนุภูมิภาคและอาเซียนต่อไป.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]