2มหาวิทยาลัยดังรับรางวัลงานวิจัย

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ที่ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ภายในงานมีพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2018 Award ให้กับผลงานวิจัยนวัตกรรมที่โดดเด่นจากกว่า 500 ผลงานที่เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน
สำหรับรางวัลที่มอบแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.รางวัล Platinum Award ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากโครงการวิจัย “นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้จากผลงาน “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” 2.รางวัล Gold Award ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยทักษิณมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 3.รางวัล Silver Award ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยบูรพา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
4.รางวัล Bronze Award ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 5.รางวัลชมเชย 10 รางวัล ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กรมการข้าวสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรมอนามัย
ด้าน รศ.ดร.มณี อัชวรานนท์ สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหน้าโครงการวิจัย “นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่” กล่าวว่า งานวิจัยทำมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงกวางอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การศึกษาสายพันธุ์กวางที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงในประเทศไทย สร้างเครือข่ายการรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกวาง ไปจนถึงการนำสิ่งเหลือใช้จากฟาร์มกวางมาเพิ่มมูลค่า
ขณะที่ ผศ.ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เจ้าของผลงาน “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” กล่าวว่า งานวิจัยเป็นการพัฒนาต้นแบบกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดความเร็วสูง เพื่อการตัดภาพขวางสามมิติของเนื้อเยื่อชีวภาพแบบไม่ทำลาย ซึ่งนวัตกรรมนี้เริ่มมีใช้ในต่างประเทศเพื่อตรวจกระจกตา และมีราคาสูงในบ้านเรายังไม่มีการนำมาใช้ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการทำงาน ร่วมกับแพทย์ นักพัฒนาโปรแกรม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผลิตได้เอง ลดการนำเข้าจากต่างทศได้ทางหนึ่ง

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]