มทร.ธัญบุรี ปลื้มต่างประเทศสนใจงานวิจัย
มาเลเซียสั่งซื้อหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ขณะนี้มทร.ธัญบุรี ได้ทำการตกลงซื้อขายหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโนระหว่าง มหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน ประเทศมาเลเซีย เพื่อนำไปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทั้งนี้การวิจัยพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน เป็นผลงานของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ และทำการค้นคว้าวิจัยมาต่อเนื่อง 5 ปี จนเมื่อประมาณกลางปี 2558 มีนักธุรกิจชาวมาเลเซียเข้ามาทำการติดต่อ เพื่อขอนำไปทดลองในการปลูกต้นปาล์ม ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการตกลงซื้อขายกันในครั้งนี้ โดยทางมาเลเซียจะสั่งซื้อประมาณ 80 ตันต่อปี จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ 80 ล้านบาทต่อปี ส่วนเรื่องการผลิตนั้น ขณะนี้ผลิตที่ศูนย์ Center of Excellence (COE) ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้มทร.ธัญบุรี จะจัดสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559
ทั้งนี้ นอกจากการสั่งซื้อหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน เพื่อใช้ในการเพาะปลูกปาล์มแล้ว ยังได้ทราบว่าทางมาเลเซียยังมีความสนใจที่จะสั่งซื้อ เพื่อนำไปใช้การปลูกข้าวอีกด้วยเช่นกัน จะสั่งซื้อประมาณ 100 ตันต่อปี โดยในเร็วๆ นี้จะเข้ามาดูงานในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ตนยังได้มีการหารือกับกรมการข้าว ถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน ซึ่งทางกรมฯ มีแนวคิดที่จะนำไปทดลองใช้ในศูนย์วิจัยข้าว หากในประเทศตลาดมีความต้องการปุ๋ย เชื่อว่ากำลังการผลิตของมหาวิทยาลัยจะไม่เพียงพอ จึงอยากนำนวัตกรรมนี้ กระจายไปให้ภาคเอกชน เป็นโครงการ start up เพื่อให้เกิดการต่อยอดนำไปดัดแปลงใช้กับผลผลิตทางการเกษตรด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย
“ขณะนี้มทร.ธัญบุรีได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น คือการที่งานวิจัยสามารถเกิดการใช้งานได้จริง ทำให้เกิดองค์ความรู้และเกิดรายได้ เป็นรายได้ที่กลับสู่ประเทศ เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้จะเป็นพื้นฐานของนักวิจัย ที่จะทำให้เกิดแนวคิดเมื่องานวิจัยขายได้ ก็จะนำเงินเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอด เพราะฉะนั้นงานวิจัยซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงสามารถ จะทำให้ประเทศหลุดจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ ถ้ามหาวิทยาลัย หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยส่งเสริมงานวิจัยให้สามารถขายได้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวในที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ นักวิจัยหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน กล่าวว่า งานวิจัยในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 1. หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน(ผง) สำหรับเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ที่เป็นแหล่งอินทรียสาร ให้กลายเป็นธาตุอาหารหลัก อาหารรองและอาหารเสริมในรูปที่รากพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้ปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูง สำหรับพัฒนาการปลูกพืชเศรษฐกิจ 2. หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน(เม็ด) สำหรับเคลือบปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมี 3. สารสกัดจุลินทรีย์ เพื่อเป็นอาหารเสริมฮอร์โมน เอนไซม์อื่นๆ สำหรับช่วยเร่งการเติบโตของพืช ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับหัวเชื้อชีวภาพนาโน โดยหัวเชื้อชีวภาพนาโน นั้นจะใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยชีวภาพ หรือใช้ผสมกับปุ๋ยสองชนิดนี้ก็ได้ เพื่อปรับสภาพดิน เพิ่มผลผลิต และ 4. หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน สำหรับควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรค สำหรับควบคุมศัตรูแมลง โดยขณะนี้ได้มีการผลิตและจำหน่ายหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโนดังกล่าว ให้กับทั้งหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับนำผลิตภัณฑ์นาโนเหล่านี้ไปพัฒนาการปลูกพื้นเศรษฐกิจสำคัญๆ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ผัก ผลไม้ ข้าวและยางพารา เพื่อทำให้เกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งคาดว่าการจำหน่ายหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโนนี้จะสร้างรายได้ให้กับมทร.ธัญบุรี 800 ล้านบาทต่อปี