คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: นวัตกรรม ‘มทร.ธัญบุรี’ ช่วยเกษตรกร เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์-ตู้อบมูลวัวก๊าซชีวภาพ

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
จากการเรียนในตำรา สู่การปฏิบัติทดลอง และใช้จริง และส่งต่อเกษตรกรตัวจริง ตอกย้ำความเป็นสถาบันที่คิดค้นงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
ล่าสุด ผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ และตู้อบแห้งมูลวัว ให้เกษตรกร ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ผศ.ชัยรัตน์ หงษ์ทอง อาจารย์ประจำสาขาอุตสาหกรรมการผลิต คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี และอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานดังกล่าวเล่าว่า การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทั้งสองชิ้น เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่4 หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต
เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้า ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพเป็นผลงานของ น.ส.วีรยา กันจันทึก นายเอกชัย ไกรแสงราธ และนายกรวิชญ์สังข์ศิลป์ การสร้างเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์โดยใช้ก๊าซชีวภาพ เป็นการช่วยผ่อนแรงและลดระยะเวลาในการย่อยหญ้าเนเปียร์ให้เกษตรกร
ส่วนตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลงานของนายสหรัฐ เหมสุลักษณ์ นายมนูญ มงคล และนายสันติสุขสินมาก ตู้อบมูลวัวโดยใช้แก๊ส LPG ช่วยเกษตรกรลดเวลาในการอบแห้งมูลวัวในการทำปุ๋ย หลังจากนำไปใช้จริงเป็นที่เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก ทางสาขาจึงได้มอบสิ่งประดิษฐ์ให้กับฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อนำไปใช้ต่อไป
น.ส.วีรยา กันจันทึก ตัวแทนผู้ออกแบบและพัฒนา เล่าว่า เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้า โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ส่วนประกอบที่สำคัญคือ ต้นกำลัง ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 9 แรงม้า ความเร็วรอบที่ใช้2,500รอบต่อนาที ที่ปลายเพลาติดตั้งมู่เล่ย์ขนาด3นิ้วเพื่อส่งถ่ายกำลังด้วยสายพานขนาดร่องเบอร์A-59นิ้ว 2เส้น ไปที่มู่เล่ย์ขนาด 7.5 นิ้ว ซึ่งเป็นของชุดใบมีด ใบมีดทั้งหมด6ใบความเร็วรอบที่ใช้งาน 1,000รอบต่อนาที
ชุดป้อนต้นหญ้าเนเปียร์มีตัวป้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง60 มม. มี8ร่องยาว295มม. จำนวน2ตัวขบกันเพื่อป้อนหญ้าเนเปียร์เข้าสู่ใบมีดและโครงของเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ มีขนาด580 x 480 x 640มม. โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ใช้ก๊าซชีวภาพสามารถใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเบนซินได้
จากการทดสอบเครื่องย่อยหญ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพสามารถรับปริมาณหญ้าเนเปียร์ได้ครั้งละ3กิโลกรัม
โดยทดสอบ3ชุด การทด สอบ 1 ชุด จะย่อยหญ้า5ครั้ง (ครั้งละ3 กิโลกรัม) ผลการทดสอบได้เวลาเฉลี่ย44.81 วินาที ต่อการย่อยหญ้าเนเปียร์15กิโลกรัมคิดเป็นเงิน คือ0.11 บาท โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ใช้ก๊าซชีวภาพจะเหมาะสมกับเกษตรกรที่มีบ่อก๊าซชีวภาพ เป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและลดต้นทุนได้มากขึ้น
ขณะที่ตัวแทนศึกษาตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว นายสหรัฐเหมสุลักษณ์ เล่าว่า ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมออกแบบและพัฒนาตู้อบแห้งมูลวัว โดยใช้แก๊ส LPGขนาดความกว้าง80 เซนติเมตรยาว83 เซนติเมตร และความสูง150 เซนติเมตร ด้านบนของตู้อบมีชุดระบายความร้อนโดยใช้มอเตอร์Mitsubishiขนาด 1/4HPเป็นต้นกำลังขับใบพัดขนาด ๐ 20 เซนติเมตร และความเร็วลม14กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนด้านล่างเป็นแหล่งความร้อนจากหัวเตาแก๊สยี่ห้อKB 8
ขั้นตอนการทดลองตู้อบแห้งมูลวัวจะใส่มูลวัวเต็มถาดแต่ละถาดสามารถใส่ได้3กิโลกรัมต่อถาด โดยวางเรียงทั้งหมด 6 ชั้น รวมน้ำหนักมูลวัวทั้งหมด18 กิโลกรัมทดลองทั้งหมดที่3 อุณหภูมิ คือ130, 140 และ150องศาเซลเซียส การทดสอบการอบจะทำทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลาอบมูลวัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง ทุกๆ 30 นาที สลับถาดซึ่งมีหลักการสลับถาดดังนี้คือนำถาดที่ 1 ออกและนำถาดที่เหลือเลื่อนขึ้นไปด้านบน แล้วนำถาดที่ 1 เอากลับมาใส่ไว้แทนถาด ที่ 6
หลังจากการอบน้ำหนักของมูลวัวทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 กิโลกรัม ค่าใช้จ่ายในการอบเฉลี่ยต่อครั้งการทดลองคือ 7.82 บาท ผลการทดสอบการหาประสิทธิภาพของตู้อบแห้งมูลวัวพบว่า อุณหภูมิที่140 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มอบเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้าโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ และตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้นายบุญเลิศ ชัยมัง ตัวแทนรับมอบ ณ ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้องอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]