ข่าวสด ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ต้องยึดมาตรฐานสกอ.-ผ่านสภาวิชาการมหา’ลัย
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) 9 แห่ง เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.มทร. ว่า ที่ประชุมมีการสอบถามถึงกระแสข่าวที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยแย่งนักศึกษาจีนเข้าเรียน และเปิดให้ทางฝ่ายจีนกำหนดหลักสูตรเอง ซึ่งทุก มทร.ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง การจัดทำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะต้องยึดตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหลัก และทุกหลักสูตรจะต้องผ่านสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย ดังนั้น การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ต่างชาติมาจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเองจึงเป็นไปไม่ได้ คนต่างประเทศจะกำหนดหลักสูตรขึ้นมาเองไม่ได้
ประธาน ทปอ.มทร.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือว่าขณะนี้มีองค์ความรู้ใหม่ในการทำงานเชิงบูรณาการวิชาการ ต้องมีความเข้าใจบริบทของประเทศ บางสาขา ไม่สามารถพัฒนาเองได้ จึงเกิดการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของ สกอ.กำหนด ทั้งนี้ ถือเป็นการใช้หลักสูตรคู่เอ็มโอยู กับมหาวิทยาลัย เช่น มทร.อีสานทำหลักสูตรระบบราง โดยนักวิชาการของมหา วิทยาลัยไม่สามารถเขียนหลักสูตรเอง จึงเชิญมหาวิทยาลัยในจีนที่เชี่ยวชาญด้านนี้ร่วมจัดทำหลักสูตร แต่จะไม่นำอาจารย์ต่างชาติ หรือจีนมาสอนเด็ดขาด
ด้าน ผศ.ดร.นาถรพี ชัยมงคล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจของ มทร.ธัญบุรีมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากจีนเข้ามาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี แต่เป็นเพียงแค่หลักสูตรระยะสั้น เพียงประมาณ 6-7 เดือนเท่านั้น หรือประมาณ 1 ภาคการศึกษา และเป็นหลักสูตรภาษาไทย ดำเนินการมาแล้วปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 12 และอีกหลักสูตรหนึ่งคือหลักสูตรนานาชาติ ในแต่ละปีการศึกษามีนักศึกษาจีนเพียงประมาณ 10-20 คน โดยเข้ามาสมัคร ด้วยตนเอง และส่วนหนึ่งมาจากความสนใจเรียนหลังจากเข้าอบรมในหลักสูตรระยะสั้นของมหาวิทยาลัย
“คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนทั้งในหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรนานาชาติจากหลายประเทศ ไม่เพียงแค่จีนเท่านั้น เช่น อินโดนีเซีย เยอรมัน ออสเตรีย และกัมพูชา”