ความสำเร็จในการผลิต “หุ่นยนต์เชื่อม 6 แกน” (RMUTT Robotic Arc Welding )ตัวแรกในประเทศไทยนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 3 ส.ค.หลังได้รับการเปิดเผยจาก รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรีว่า “หุ่นยนต์เชื่อม6แกน” (RMUTT Robotic Arc Welding )เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับบริษัท ทีดีเอส เทคโนโลยี(ประเทศไทย)จำกัด โดยตนพร้อมด้วย นายวิโรจน์ ฤทธิบุญ นักศึกษาปริญญาโท คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี และนายวิญญู เลิศคำ ผู้จัดการบริษัท ทีดีเอสเทคโนโลยี(ประเทศไทย)จำกัด ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง(Translational Research )มุ่งเน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรม และควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ
สำหรับหุ่นยนต์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนี้ เป็นชนิด Articulated Robot แบบ 6 แกน สามารถใช้ในงานเชื่อมได้อย่างหลากหลายด้วยมิติองศาการทำงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระ การเชื่อมต่อสัญญาณจะใช้แบบ TwinCAT Ethernet Protocol IEC 61131-3 ด้วยซอฟต์แวร์ TwinCAT 3 ภาษาC++ตลอดจนการควบคุมแบบสมการของหุ่นยนต์(Kine matics of Robotics )ด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างของหุ่นยนต์แบบ 6 แกน(6 Servo Motor )ซึ่งสามารถเขียนให้อยู่ในรูปแบบของเมตริกซ์การแปลงพิกัด และเวกเตอร์บอกตำแหน่ง และการเปรียบเทียบการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของแขนกลด้วย “MATLABSimulink ” โดยถือเป็นหุ่นยนต์เชื่อม 6 แกนตัวแรกในประเทศไทยราคาตัวละประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งถูกกว่าต่างประเทศที่ขายอยู่ตัวละประมาณ 2 ล้านบาท ที่สำคัญมีข้อดี คือ สามารถแก้ไขโปรแกรมได้ตลอดเวลาสามารถซ่อมและสร้างได้ถือเป็นนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งนำมาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย
ด้านนายวิญญู กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวมไปถึงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นการเกิดตลาดใหม่ การเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในภูมิภาคและประเทศคู่แข่งทางการผลิตที่มีความพร้อมของค่าจ้างแรงงานสร้างผลกระทบต่อผู้รับจ้างผลิตของไทย ทั้งด้านต้นทุนคุณภาพและความสามารถในการผลิต ซึ่งทำให้รูปแบบการผลิตที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันกับคู่แข่งในระดับภูมิภาคและระดับโลกและสายการผลิตแบบอัตโนมัตินั้น ได้มีการใช้งานกันในระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่มักเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือมาจากการย้ายฐานหรือเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติมาพร้อมกับการเริ่มต้นธุรกิจ ในปัจจุบันระบบการผลิตแบบอัตโนมัติมีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพและมีราคาที่ผู้ประกอบการผลิตอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงและใช้งานได้
นายวิญญู กล่าวอีกว่านอกจากเทคโนโลยีอัตโนมัติแล้ว หุ่นยนต์อุตสาหกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อการผลิต และเป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนระบบอัตโนมัติ เดิมมาเป็นการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในสายการผลิต ดังนั้น หุ่นยนต์เชื่อม 6 แกน จึงตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมในยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี