มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับโอกาสและกิจกรรมดี ๆ ในการพัฒนานักศึกษาจากสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ตามที่ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์-ตัดสินใจ ความเป็นผู้นำ ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม คุณธรรมจริยธรรมของอาชีพ ฝึกออกแบบไอเดียด้านนวัตกรรม สำหรับปรับปรุงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา 11 คณะ 1 วิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 100 คน
นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ เล่าว่าสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ทำหน้าที่ในการคิดค้นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข ซึ่งเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดย 3 เรื่องที่สำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม คือ 1. การก้าวหน้าและก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2. สังคมผู้สูงอายุ 3. เข้าสู่ประชาคมอาเซียน เกิดการแข่งขันสู่ตลาดแรงงานที่สูงขึ้น สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน จัดขึ้น โดยเป็นการรวมองค์ความรู้ในเรื่องของการฝึกอาชีพ วินัยทางด้านการเงิน ในส่วนของกระบวนการในการจัดการเงิน ไอที การอบรมเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Excel Dashboards and Reports, Python สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และทักษะชีวิต ในการทำงาน เป็นทีม การเป็นผู้นำ และการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยสู่ตลาดแรงงานจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพต่อไป
ทางด้านนายอภิชาต หวั่งหลี กรรมการมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี เล่าว่า ทางมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาของเยาวชน โดยทางมูลนิธิให้ทุนการศึกษาสนับสนุนนักศึกษามาโดยตลอด สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพเยาวชน เตรียมความพร้อมของเยาวชนเข้าสู่อาเซียน ซึ่งในการเข้าสู่อาเซียน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ตลาดการค้ากว้างขึ้น แต่ข้อเสีย ถ้าคนไทยไม่มีความพร้อมอาจจะแพ้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่สิ่งนี้สามารถแก้ไขโดยการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพเยาวชน ไม่ว่าจะในเรื่องของภาษาอังกฤษ ความรู้ในเรื่องไอที เทคนิคระดับสูงต่าง ๆ วินัยทางการเงิน ตลอดจนทักษะชีวิต เป็นสิ่งที่ดีมาก สำหรับกิจกรรมได้เปิดบริษัทให้นักศึกษาเข้าศึกษาดูงานบริษัท SMS และบริษัท สิทธินันท์ (กลุ่มบริษัทพูลผล) นักศึกษาได้เห็นถึงกระบวนการในการทำงาน ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำงาน ได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายการตลาด วิศวกร นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเตรียมตัวก่อนออกตลาดแรงงานในอนาคต
“แตมป์” นายธนบดี สุขศรีแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า อยากเข้าร่วมกิจกรรมที่ฝึกประสบการณ์การเป็นผู้นำ 4 วันที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้จักเพื่อนต่างคณะได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม ลงพื้นที่ในการฝึก Workshop ที่บริษัท SMS และบริษัท สิทธินันท์ (กลุ่มบริษัทพูลผล) เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแป้งและการทำวุ้นเส้น ได้เรียนรู้กระบวนการในการผลิตแต่ละขั้นตอนและได้สัมภาษณ์การทำงานของพี่ ๆ พนักงานในโรงงาน นอกจากนี้ยังได้เห็นระบบเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการนี้ทำให้ตนเองกล้าแสดงออก กล้าที่จะคิดที่จะทำและฝึกการเป็นผู้นำ
“กี้” นางสาวอรวรรณ สรรเพชุดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า เมื่อเห็นชื่อโครงการมีความสนใจ อยากได้รับความรู้ ทางด้านทักษะในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ได้เยี่ยมชมโรงงานวุ้นเส้นและแป้ง ตรงกับสายงานที่เรียน ได้รู้ขั้นตอนในการผลิตแป้งแต่ละชนิด เรียนรู้ระบบการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และนำความรู้ที่ได้มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง
ความรู้และทักษะที่นักศึกษาได้รับจากโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในสถานประกอบการในอนาคต การวางแผนและการเตรียมพร้อมนำไปสู่ความสำเร็จ