นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า มทร.ธัญบุรี กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2563 ที่พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาในระหว่างปีการศึกษา 2561 -2562 ที่ผ่านมา ทั้งหลักสูตร 4 ปี หลักสูตรเทียบโอน และหลักสูตรต่อเนื่องให้กลับเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือที่เรียกว่าการรีรหัส ซึ่งถือเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษา มทร.ธัญบุรี ที่พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา และมีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อ ให้สามารถกลับเข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเป็นการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อที่จะออกไปพัฒนาประเทศต่อไปตามสาขาวิชาชีพนั้น ๆ โดยจะจะต้องมีความประพฤติที่ดี และผ่านการประเมินศักยภาพอย่างเหมาะสมตามมติคณะกรรมการสอบ ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถเรียนในสาขาวิชาที่สมัครได้ โดยข้อมูลในปีการศึกษา 2562 ภาคการศึกษาที่ 1 พบว่า จำนวนนักศึกษาที่รีรหัส มีเกรดเฉลี่ยสะสมมากกว่า 3.51 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 16.18 เกรดเฉลี่ย 3.01-3.50 ร้อยละ 7.35 ส่วนเกรดเฉลี่ย 2.51-3.00 อยู่ที่ร้อยละ 9.56 และ 2.01-2.50 ร้อยละ 16.18 ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาที่กลับเข้ามาศึกษาต่อนั้น มีผลการเรียนที่ดีขึ้น และหลายคนมีเกรดเฉลี่ยที่สูงกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่า มทร.ธัญบุรี สามารถทำเรื่องนี้ได้จริง โดยไม่ลดคุณภาพการศึกษา
รักษาการฯ มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า การรับเด็กรีไทร์กลับเข้าเรียนใหม่เป็นการให้โอกาสที่ดีกับเด็กที่โดนไทร์ออกไปจากความไม่พร้อมในช่วงที่เรียน ยังปรับตัวไม่ทันแล้วอยากตั้งใจเรียนใหม่ ซึ่งอาจเรียนได้ พัฒนาได้จนสำเร็จการศึกษา แต่ต้องมีการประเมินศักยภาพอย่างรอบคอบ ซึ่งมั่นใจว่า มทร.ธัญบุรี มีหลักเกณฑ์และการวัดคุณสมบัติที่มีมาตรฐาน ทั้งการสอบสัมภาษณ์ สอบปฏิบัติ หรือทดสอบทักษะพื้นฐานหรือด้านอื่น ๆ ตามมติคณะกรรมการสอบของแต่ละคณะ/สาขาวิชา และเป็นปีที่ 3 ที่ มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเด็กเองเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องมีความพร้อม และมีความสามารถในสาขาวิชาที่สมัครเรียน นอกจากนี้ที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ยังมีแนวทางที่จะลดปัญหาดังกล่าวโดยจัดให้มีการติวหรือสอนเสริมในหลายวิชาจากรุ่นพี่และศิษย์เก่า รวมถึงจัดให้มีงานบริการให้คำปรึกษาและสนับสนุนระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยงานบริการด้านระบบออนไลน์ที่มีความรวดเร็ว สำหรับให้คำปรึกษา ให้ความด้านสุขภาพจิต ถามตอบวิเคราะห์เบื้องต้นก่อนเข้าสู่การนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการเป็นรายบุคคลต่อไป
นายวิรัช กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีนักศึกษามีปัญหาที่มากขึ้นและซับซ้อน ทาง มทร.ธัญบุรี ได้จัดบริการคลินิกกำลังใจ โดยนักจิตวิทยาคลินิก และจิตแพทย์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน หรือความเครียด ก่อนที่จะก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา จากการติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ เชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และปรับตัว ตลอดจนสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามที่ต้องการ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.oreg.rmutt.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 2563 หรือโทร. 02 549 3616 – 15