Wheel Share Journey โครงการเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญการให้โอกาส และสร้างความเท่าเทียมที่มีต่อผู้พิการในสังคมไทย โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จัดประกวด “ออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ” เพื่อให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาต้นแบบรถเข็นที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้พิการ
ทั้งนี้ มีนักศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 287 ทีม จนคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้าย มาร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดยนำรถเข็นต้นแบบเข้ารับการทดสอบในสนามจำลอง
สภาพพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีโอกาสพบเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งพื้นลาดชัน ทางซิกแซก พื้นผิวขรุขระ พื้นทราย ขณะที่เกณฑ์ในการตัดสิน จะเน้นความสามารถนำไปใช้งานได้จริง รวมไปถึงการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทาน
สำหรับทีมชนะเลิศ คือ ทีม MEC_T จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี), ทีมอันดับที่ 2 คือ Mega chance จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอันดับที่ 3 คือ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งรถเข็นต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือก จะถูกนำไปพัฒนาต่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยว ต่าง ๆ ในประเทศไทย
คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากนี้เราจะนำรถเข็นต้นแบบของทีมที่ชนะไปผลิตจริง โดยทางมูลนิธิจำนงค์ ภิรมย์ภักดี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตชุดแรก เพื่อส่งมอบให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ที่สนใจอยากได้รถเข็นไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว ก็สามารถติดต่อมายังโครงการเพื่อขอรับรถเข็นได้ สำหรับการจัดประกวดออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ ถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ ความสามารถของนิสิต นักศึกษาไทย รวมทั้งการใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการผลิต และขยายเครือข่าย ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังสถาบันต่าง ๆ ที่ต้องการรถเข็นต้น แบบไปผลิตเอง รวมไปถึงยังสามารถต่อ ยอดไปสู่โครงการในการฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้พิการต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง
ตุลา-นายวรุตม์ บุศย์รัศมี, เรน-นาย ธีรพล คงดีพันธ์ และ แม็ค-นายพรพนา เก้าแพ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทีม MEC_T จากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนอยากจะรวมทีมสร้างรถเข็นที่สามารถพาผู้พิการไปได้ทุกที่ เพราะว่ารถเข็นที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีขีดจำกัดในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวต่าง ๆ ซึ่งแรงบันดาลใจในการออกแบบรถเข็นคันนี้มาจากจักรยาน Fatbike ที่สามารถลุยทรายได้และมีน้ำหนักเบา จึงเอาล้อของมันมาใส่ในรถเข็นของพวกเรา
อีกหนึ่งแนวคิดที่น้อง ๆ นำมาใส่ในรถเข็นที่พวกเขาออกแบบก็คือ ระบบกันกลับที่ใช้ในรถเข็นในสนามบิน โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดชัน ผู้พิการจะสามารถหยุดพักรถเข็นได้ รวมไปถึงการนำสกีมาใส่ที่ล้อหน้า เพื่อให้สามารถเข็นบนพื้นทราย ซึ่งเป็นแนวคิดจากรถเข็นในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถลุยหิมะได้ โดยลักษณะเด่นของรถเข็นคันนี้ คือ มีล้อโตสามารถลุยไปได้ทุกพื้นที่ และมีระบบ GPS แจ้งเตือนเมื่อรถเข็นพลิกคว่ำ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่พร้อมใช้งาน โดยมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนไปทางไลน์ของผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่ด้วย