“เราจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นได้ ปัจจัยมีอยู่ 2 แบบ คือ การได้เจอผู้คน อีกแบบหนึ่งคือ การได้อ่านหนังสือ ซึ่งการเจอคน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และการอ่านหนังสือก็ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกัน เพราะหนังสือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วขั้นหนึ่งเป็นอย่างดี” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความ-เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดชีวิตที่ยึดถือ…ของชายวัย 41 ปี ที่ชื่อ ป๋อง-นิรุตติ นิลแก้ว อีกหนึ่งชีวิตกรณีศึกษา ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” หนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” นำเรื่องราวชีวิตชาย คนนี้มาเสนอให้ลองพิจารณา…คล้าย ๆ กับการได้เจอ…ผนวกกับการได้อ่าน…
นิรุตติ นิลแก้ว หรือ ป๋อง พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ หลังจบมัธยมต้นก็ได้เข้าศึกษาระดับ ปวช. ด้านไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และได้โควตาศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมถึงได้เข้าศึกษาที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบันก็คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อีกทั้งได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และตอนนี้ก็กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ซึ่งเหตุที่เลือกราชมงคล เขาบอกว่า… “ไม่ใช่เพียงเพราะรัก แต่ยังเพราะความผูกพันที่เกิดขึ้นกับสถาบันนี้”
ชีวิตนับแต่วัยเด็กของ ป๋อง-นิรุตติ ต้องต่อสู้และฝ่าฟันในการเอาตัวรอด อย่างในเรื่องอาหารการกิน ข้าวปลาอาหารดี ๆ จะได้กินก็ต่อเมื่อมีงานใหญ่ตามเทศกาลต่าง ๆ ขณะที่เกือบทุกวันนั้นเขาต้องลุยทุ่งนาป่าเขา ลงสวนลงไร่ ด้วยความเชื่อที่ว่า… “กับข้าวที่ดีไปหาเอาข้างหน้า” ซึ่งก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตที่สอนให้รู้จักอดทน ดิ้นรน และเอาตัวรอด ในทางที่ถูกที่ควร
ดังนั้น ชีวิตชายคนนี้จึง ไม่มีคำว่า “นิ่งดูดาย” และแม้จะกู้ยืมเงินทุนเพื่อการศึกษา แต่เขาก็ยังหางานทำระหว่างเรียนอยู่เสมอ ตามความถนัดที่ตนได้เรียนมา ทั้งนี้ ชีวิตเขาคนนี้พลิกผันครั้งใหญ่ตอนอายุได้ 17 ปี โดยคุณพ่อได้จากไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เหลือเพียงคุณแม่และพี่สาว… ส่วนชีวิตคู่นั้นเขาแต่งงานกับ ฐิติมา นิลแก้ว มีโซ่ทองคล้องใจคือ มาติกา นิลแก้ว
ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ บจก. เอ็นอาร์ที เซลส์แอนด์เซอร์วิส บริษัทที่จับธุรกิจมูลค่าสูงลิ่วไม่ธรรมดา คือสถานะเขาคนนี้ในวันนี้ แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ชีวิต นิรุตติ ก็ต้องผ่านหลากหลายเรื่องราว รวมถึงการ ทำงานหารายได้ระหว่างเรียน รับจ้างเดินสายไฟ รับจ้างติดตั้งแอร์ล้างแอร์ และอาศัยเบี้ยเลี้ยงการเป็นนักกีฬาค่าฝึกซ้อมกีฬาจากการเป็นนักกีฬาฟุตบอลจังหวัดมาเป็นค่าใช้จ่ายกินอยู่ต่อมื้อ รวมถึงพึ่งพาการกู้ยืม กยศ. เพื่อให้ได้ศึกษา ตามที่ตั้งใจ เพื่อส่งตัวเองให้ถึงฝั่งฝันนิรุตติ เล่าย้อนวันวานถึงการเริ่มต้นทำงานไว้ว่า เริ่มจริง ๆ ครั้งแรก ก่อนจบการศึกษา ที่บริษัท เอฟ ดี เค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟูจิตสึ กรุ๊ป และเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่กำลังเรียน ปวส. เทอมสุดท้าย จากการที่ทางบริษัทดังกล่าวเข้ามาสัมภาษณ์เพราะกำลังหาคนไปร่วมงาน…
“ผมสอบสัมภาษณ์ผ่านและก็ได้เข้าไปทำงานทันทีก่อนที่จะเรียนจบ หลังจากเรียนจบก็ทำต่อเนื่องยาวถึง 4 ปีกว่า ถือเป็นคนแรก ๆ ในกลุ่มราชมงคลที่ได้ไปทำงานที่นั่น และก็สร้างความเชื่อมั่นได้ โดยชักชวนเพื่อน ๆ อีก 10 กว่าคนไปทำงานด้วย”
จากนั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งในบริษัทลาออกเพื่อไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่แห้ง และได้ชวน นิรุตติ ไปทำงานด้วย โดยให้เขาเป็นผู้จัดการโรงงาน จนต่อมาเขาก็อยากขยับขยายและสร้างโอกาสให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยได้ใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดทำธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ทั้งยังเริ่มนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อม ๆ กับต่อยอดความสนใจไปในด้านพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ด้วย
ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ กว่า 5-7 ปี ได้ออกแบบและให้บริการจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ในพื้นที่ที่ยังไม่มีความพร้อมด้านไฟฟ้า ซึ่งต้องถือว่ามีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจในระดับที่ดี และเขายังได้ขยายธุรกิจสู่สาธารณูปโภค การวางท่อร้อยสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน การวางท่อประปา การระบายน้ำเสีย การขุดเจาะอุโมงค์ มีการลงทุนครั้งใหญ่ในการซื้อหัวเจาะเพื่อรับงานบริษัทใหญ่ โดยปัจจุบันมีหัวเจาะ 8 หัวเจาะ มีทีมงานกว่า 100 ชีวิต ศักยภาพในการรับงานนั้นถือว่าสดใสไม่น้อย
จากตำแหน่ง Managing Director และมีการเติบโตในสายงานวิศวกรรมศาสตร์ เขามีความเห็นถึง วิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ ว่า… สำคัญ เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะการคิดแบบมีเหตุผล ใช้การคำนวณ และใช้ทักษะการแก้ปัญหาร่วมด้วย ซึ่งหากว่าได้รับการส่งเสริมในเรื่องการบริหารจัดการ ความเป็นผู้นำ ภาษาและการสื่อสารทางธุรกิจ รวมถึงเรื่องการตลาด จะสามารถก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการได้… “อยากให้ทุกหลักสูตรเพิ่มเติมวิชาที่ใช้จริงในการทำงาน และปรับลดบางวิชาที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้ออกจากหลักสูตร คนเรียนวิศวะจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ”
“ปัจจุบันการแข่งขันสูงมาก ในด้านบุคคล สังคม และประเทศ ถ้าเรามีความรอบรู้ และมีความถนัดในเชิงลึกอย่างจริงจัง จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จต่อไปได้…”
…นิรุตติ ระบุไว้ พร้อมทั้งยังบอกไว้อีกว่า…เมื่อเป็นผู้บริหาร และเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด เวลาโดยส่วนใหญ่ของเราในบางเรื่องก็จะมากน้อยแตกต่างกันไป แต่การ กระจายความรู้ และกระจายอำนาจจะช่วยแบ่งเบา ทำให้เราไม่เหนื่อย และมีเวลาไปคิดต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเขามองว่า…การมีทีมที่ปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญ…
“ผมมีที่ปรึกษา 5-6 คน เพื่อมาช่วยผมทำงาน ช่วยค้นหาคำตอบ เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย” โดยจากประสบการณ์ เขามองว่า…คน คนหนึ่งจะทำเรื่องทุกเรื่องด้วยตนเองให้ดีนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ ทั้งนี้ ในชีวิตการทำงานหากมีประเด็นจะต้องรีบบริหารจัดการ ก็ไม่ควรปล่อยไว้ให้ลุกลามบานปลาย จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนส่งผลเสียต่อธุรกิจและสุขภาพจิตใจตนเองในที่สุด และสำหรับเขา…ขณะเดียวกันเขาก็นำ “ธรรมะ” มาใช้ในการทำงานและในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
เขาบอกไว้ว่า… “หลักธรรมสำคัญที่ยึดถือ ที่ชอบย้ำกับตนเองเสมอ คือ ไตรลักษณ์ ที่มีลักษณะ 3 ประการ ประกอบด้วย… อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยกตัวอย่างลักษณะแรกคืออนิจจัง หมายถึงความไม่เที่ยง ซึ่งทุกสิ่งย่อมอยู่ใน 3 สภาวะ คือ… เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในทางธุรกิจก็มีลักษณะและเชื่อมโยงหลักธรรมนี้ได้เช่นเดียวกัน คือธุรกิจหรือบริการทุกประเภทล้วนไม่เที่ยง เมื่อมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และในที่สุดก็จะดับไป ตามห้วงเวลาของธรรมชาติ ดังนั้น จึงอยู่ที่ตัวเราว่าจะเข้าใจธุรกิจนั้น ๆ หรือไม่ว่าอยู่ในสภาวะไหน…และจะทำอย่างไรต่อไป…ภายใต้ความไม่ประมาท”
ความเป็นราชมงคล อยู่ในสาย เลือดเขาคนนี้ ทั้งนี้ ช่วงที่เรียนปริญญาโท เขาเห็นสิ่งที่ขาดของห้องแล็บอยู่หลายสิ่ง จึงสมทบทุนและช่วยรีโนเวต โดยเขาบอกว่า… “เราเข้ามาอยู่ มาศึกษา มาใช้ ก็อยากตอบแทนสถาบันบ้าง ขณะเดียวกันน้อง ๆ รุ่นถัดไปก็ได้ใช้ เหมือนเป็นการส่งต่อโอกาส” ซึ่งสภาพแวดล้อมยิ่งดีเท่าไหร่ ก็จะเอื้อต่อการศึกษาเล่าเรียนมากเท่านั้น โดยส่วนตัวนั้นก็ยังมีส่วนร่วมกับอีกหลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนการศึกษา วิชาการ กิจกรรม และการเป็นสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษา
จากเด็กที่ต้องกู้ยืม กยศ. เพื่อไล่ตามฝันของชีวิตผ่านทางการศึกษา ด้วยความมุ่งมั่น ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน ในวันนี้ ในธุรกิจด้านวิศวกรรม ชายที่ชื่อว่า ป๋อง-นิรุตติ นิลแก้ว ในวัย 41 ปี ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงระดับหนึ่งแล้ว ท่ามกลางการ มีวิธีคิด มีแนวคิดในการดำเนินชีวิต ที่นับว่าน่าสนใจ ดังที่ได้สะท้อนมาข้างต้น ทั้งนี้ กรณี 2 ปัจจัย คือ… การได้เจอผู้คน การได้อ่านหนังสือ มีส่วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ นั้นเขาคนนี้ระบุถึงเรื่องนี้อย่างหนักแน่นไว้ด้วยว่า…
“เป็นความจริงข้อหนึ่งที่ผมขอยืนยัน…
และอยากบอกต่อ…”.
‘ความสุขใจสร้างได้ที่บ้านเกิด’
“ราชมงคลจัดเป็นหน่วยงานสังคมที่ดีที่ไม่เหลื่อมล้ำกันในความรู้สึก และอยู่ในสายเลือดและจิตใจของผม…” …เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดย ป๋อง-นิรุตติ นิลแก้ว ซึ่งเขาคนนี้ยังได้ระบุไว้อีกว่า… ได้ตั้งอีกเป้าหมายและเริ่มดำเนินการไว้บางส่วนแล้ว นั่นคือ… การสร้างศูนย์กลางธุรกิจ The Biz Center ที่ อ.สอง จ.แพร่ โดยตั้งใจให้เป็นสถานที่ของนักธุรกิจและนักลงทุนมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนสู่การพัฒนา ยกระดับตนเองและสังคม รวมถึงบ่มเพาะคนเพื่อไปทำธุรกิจอย่างมืออาชีพ ทั้งนี้ เขาระบุไว้ด้วยว่า…หลาย ๆ สิ่งที่ได้ทำเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงจัดหาที่ดินเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลสอง เพื่อช่วยลดความแออัด รองรับสังคมผู้สูงวัยนั้น…
“ที่อยากจะบอกต่อก็คือ… ถ้าเราก้าวหน้าหรือประสบความ
สำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว เราควรจะกลับบ้าน ไปพัฒนาบ้านของเรา การพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของเราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำมากหรือทำน้อยประการใด แค่ขอให้กลับบ้าน พัฒนาบ้านของเราให้ดียิ่งขึ้น แล้วจะมีสิ่งที่เราจะได้…นั่นคือความสุขใจ”.
“ป๋อง-นิรุตติ นิลแก้ว อีกหนึ่งชีวิตกรณีศึกษา”
บรรยายใต้ภาพ
กับครอบครัว
สมัยเรียนอาชีวะด้านไฟฟ้า
ชีวิตศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง
นิรุตติ นิลแก้ว
เคยเป็นนักฟุตบอลจังหวัด