“Wheel Share Journey”
การประกวดออกแบบรถเข็นผู้พิการเพื่อหาต้นแบบที่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ท่องเที่ยว ทั้งเพื่อนำไปพัฒนาต่อและเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย จัดโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
โครงการนี้มีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดรวม 287 ทีมจากทั่วประเทศ ก่อนจะคัดผลงานที่เข้าตากรรมการเหลือเพียง 10 ทีม เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศทั้ง 10 ทีม ต้องฝ่าด่านสุดหินจากคณะกรรมการที่ได้รับเกียรติจาก “สายสุนีย์ จ๊ะนะ” นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย “เธียร ทองลอย” นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนูคนพิการทีมชาติไทย “ชนันท์กานต์ เตชะและมณีวัฒน์” นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน
โดยผลงานที่ชนะใจคณะกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้คือ ทีม “MEC_T” จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี สมาชิกประกอบด้วย “แม็ค” พรพนา เก้าแพ ปี 3, “เรน” ธีรพล คงดีพันธ์ ปี3, “ตุลา” วรุตม์ บุศย์รัศมี ปี 3, “เอ๋ย” ศุภิสรา กาวีวน ปี 4 และ “เจ” พรพนา รัตนพันธ์ ปี 4
ทันทีที่การประกาศผลรางวัลชนะเลิศเสร็จสิ้นลง “ซุปเปอร์เฟรชชี่” ไม่รอช้า รีบบุกเข้าประชิดตัวทีม “MEC_T” พร้อมเกี่ยวแขนตัวแทนของทีมมาเจาะลึกถึงแนวคิดการสร้างผลงานและความรู้สึกที่ชนะเลิศในครั้งนี้กันเลย
เริ่มจาก “แม็ค” เล่าว่า “จุดเริ่มต้นมาจากการแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นถึงความน่าสนใจในการออกแบบเพื่อความสะดวกแก่ผู้พิการสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว และอยากนำวิชาความรู้ในสาขาของตนเองมาใช้ จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนสนิทตั้งทีมขึ้นมา โดยโจทย์มีความน่าสนใจมาก เพราะจะต้องมีเกณฑ์ในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการเคลื่อนที่ได้ในภูมิประเทศที่หลากหลาย มีความทนทาน บำรุงรักษาง่าย ที่สำคัญจะต้องออกแบบให้มีต้นทุนไม่เกิน 3,500 บาท เมื่อได้ประชุมกันก็เห็นว่ารถเข็นผู้พิการหลายประเภทที่อยู่ในปัจจุบันต่างก็มีขีดจำกัดในการใช้งานบนพื้นผิวต่างๆ จึงต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้รถต้นแบบสามารถไปได้หลากหลายพื้นที่ และจากประสบการณ์ที่ใช้งานเป็นประจำของจักรยานล้อใหญ่ Fatbike ที่มีสมรรถนะลุยกรวดหินดินทรายได้มีหน้ายางใหญ่ มีความยืดหยุ่นสูงและน้ำหนักเบา จึงได้ดัดแปลงมาใช้ประกอบรถเข็นขึ้น ส่วนล้อหน้าของรถเข็นนั้นได้ศึกษารถเข็นของประเทศญี่ปุ่นซึ่งสามารถลุยหิมะได้ จึงนำแนวคิดการออกแบบล้อหน้ามาดัดแปลงเพิ่มเข้าไป ด้วยการนำระบบล้อสกีหน้ามาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหน้าสัมผัสของล้อหน้า จึงทำให้รถเข็นมีศักยภาพ และสามารถลุยในพื้นทรายได้ดี ไม่ทำให้ล้อจมเคลื่อนที่ได้ง่าย”
ขณะที่ “เรน” อธิบายเพิ่มเติมว่า “มีการออกแบบให้มีระบบกันกลับ ด้วยการนำแนวคิดรถเข็นในสนามบินมาปรับใช้ เพื่อให้ผู้พิการสามารถหยุดพักได้ระหว่างใช้งานในทางลาดชันขณะเดียวกัน ยังช่วยผ่อนแรงแก่ผู้ใช้งานด้วย เนื่องจากพละกำลังแขนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถพักระหว่างทางได้ โดยไม่ทำให้รถเข็นต้องถอยหลังกลับ ซึ่งจากการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ รถเข็นของเรานั้นได้ผ่านการทดสอบสภาพพื้นผิวใน 4 ลักษณะด้วยกัน ทั้งเส้นทางที่ขรุขระ ทางชัน ทางลาดเอียงและบนพื้นทราย ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี มีการเคลื่อนที่อย่างสะดวก”
ปิดท้ายกันที่ “ตุลา” เสริมว่า “ได้เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานด้วยการติดตั้งระบบ GPS แจ้งเตือนเมื่อรถเข็นเกิดการพลิกคว่ำ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่พร้อมใช้งานและยังมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือในเวลาที่ผู้พิการต้องการความช่วยเหลือหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยจะแจ้งเตือนไปทางไลน์ของผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่ และอยากจะพัฒนารถเข็นต้นแบบนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งขนาดและน้ำหนักของตัวรถ ความแข็งแรงและการใช้งานที่มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นประสบการณ์จากเวทีครั้งนี้สอนให้เห็นถึงความสำคัญและความเท่าเทียมของผู้พิการ อยากให้เกิดการสานต่อจากความคิดนี้ต่อไป”
“ซุปเปอร์เฟรชชี่” ได้ฟังแนวคิดในการออกแบบรถเข็นจากทีม “MEC_T” แล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงคว้ารางวัลชนะเลิศจากรายการนี้ไปครองได้
เพราะรถเข็นต้นแบบของทีม “MEC_T” ได้รับการออกแบบอย่างใส่ใจในรายละเอียดของผู้พิการ ทั้งยังนำประสบการณ์ของผู้ออกแบบมาพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้พิการมากที่สุด
เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวให้กับผู้พิการได้อย่างแท้จริง.