พัฒนา 3 นวัตกรรมเพื่อชุมชน
การต่อยอดและประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชน เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ 5 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นห้องเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมของนักศึกษารายวิชาเลือกเสรี “นวัตกรรมเพื่อชุมชน” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
3 นวัตกรรมชุมชน ที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ เป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วย ปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าว, กับดักแมลงวันทองชีวภาพ โดยการใช้สารสกัดจากกะเพรา และ กระดาษจากตะไคร้ นางสาวหทัยนุช วงษ์ขำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช ตัวแทนกลุ่ม “ปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าว” บอกว่า ชุมชนมีการทำนา หลังจากทำนามีฟางข้าว โดยชาวนาจะเผาทิ้ง สร้างมลพิษ ทำให้โลกร้อน โดยจากการศึกษาพบว่า ฟางข้าวเป็นหัวเชื้อปุ๋ยชั้นดี ฟางข้าว 1 ส่วน เท่ากับมูลวัว 10 ส่วน ทางกลุ่มจึงได้คิดค้นสูตรปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวขึ้นมา สามารถนำมาใช้กับพืชผลทางการเกษตร ลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย ซึ่งสูตรปุ๋ยเป็นสูตรที่เคยเรียนในวิชาเรียน ขั้นตอนในการทำปุ๋ย คือ นำฟางข้าวและมูลสัตว์ มาวางสลับชั้นกัน ความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำที่ผสมจุลินทรีย์ช่วยการย่อย รดทุกวัน หากพื้นที่ชื้นและร่มสามารถรดน้ำอาทิตย์ละครั้ง คลุมด้วยพลาสติกทึบ เมื่อปุ๋ยย่อยจนละเอียดนำไปตากแดดฆ่าเชื้อ 1-2 วัน นำมาอัดขึ้นรูปอัดเม็ดและบรรจุภัณฑ์เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เก็บรักษาได้ง่าย ต่อยอดนำปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวไปจัดจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
นางสาวอติวัณณ์ สุดใจดี นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช ตัวแทนกลุ่ม “กับดักแมลงวันทองชีวภาพ โดยการใช้สาร สกัดจากกะเพรา” กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ชาวบ้านบอกว่า แมลงวันทองเป็นศัตรูตัวสำคัญในสวนกล้วยและไม้ผล เข้าไปวางไข่ทำลาย เนื้อในของพืชผล จึงได้ศึกษาข้อมูลการกำจัดแมลงวันทอง ส่วนใหญ่ใช้การวางกับดักโดยใช้ ฟิโรโมนเป็นตัวล่อ และจากการสำรวจกะเพราเป็นวัตถุดิบในพื้นที่มีจำนวนมาก ซึ่งกะเพรามีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาใช้เป็นฟิโรโมนแมลงวันทอง จึงนำใบกะเพรามาสกัด โดยหมักกับแอลกอฮอล์ ทิ้งไว้ 7 วัน ส่วนกับดักใช้ขวดพลาสติก เจาะรูข้างขวด เป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่ต้องใหญ่มาก ใช้ลวดเจาะรูบนฝาขวด สอดลวดเข้าไปในรูแล้วขดลวดบริเวณใต้ฝาและบนฝา เพื่อยึดไม่ให้ลวดขยับ นำสำลีที่ชุบสารสกัดกะเพรามาเกี่ยวลวด จากนั้นนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการดักแมลงวันทอง
ด้าน นายกิตติชัย พุ่มไม้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนกลุ่ม “กระดาษจากตะไคร้” บอกว่า มีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าของตะไคร้ ซึ่งมีราคาถูกและมีจำนวนมากในชุมชน เป็นที่มาของแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ตะไคร้ โดยการนำตะไคร้ทั้งส่วนของลำต้น และใบมาทำเป็นกระดาษ กระบวนการในการทำไม่ยุ่งยาก ชาวบ้านในชุมชนสามารถทำได้ ลักษณะของกระดาษตะไคร้มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ เช่น โคมไฟ เป็นในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าในวัตถุดิบในชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชนด้วย
นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าว ว่า การเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนชุมชนเป็นแหล่ง ในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ ความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษา มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นอกจากนั้นนักศึกษาได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ปลาย ทางได้รู้การทำงานเป็น ทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมา คือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยมีหน่วยกิตเรียนทั้งหมด 3 หน่วยกิต เรียนในห้องเรียน 20% และอีก 80% ลงชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของชุมชน โดยได้เปิดทำการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก
เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ผ่านกระบวนการคิดในเชิงนวัตกรรม กระบวน การมีส่วนร่วม ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน.