คอลัมน์ กรีนไอเดีย: กระดาษจากใบไผ่ ของเหลือใช้ที่มีมูลค่า

           ไอเดีย และนวัตกรรม คือเครื่องมือสำคัญในการทำงานหลายๆ เรื่อง รวมทั้งการ Upcycling กระบวนการในการแปลงสภาพของวัสดุของเสีย หรือไม่ใช้ประโยชน์แล้วให้เป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม หรือมีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสูงมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ใช้เครื่องมือทางความคิดและนวัตกรรม มาพัฒนาสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ที่น่าสนใจมากมาย
“กระดาษจากใบใผ่” คืออีกหนึ่งชิ้นงานการวิจัยนำวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน มาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง
อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คือผู้ค้นคิดงาน “กระดาษจากใบไผ่” ขึ้น ภายใต้โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไผ่ เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ของใช้ ของที่ระลึก เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับทุนสนับสนุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

          ผลงานชิ้นนี้ เกิดจากการลงพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมไม้ไผ่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหแสงชัยเสื่อ จังหวัดปราจีนบุรี ผลิตภัณฑ์เสื่อลำแพน ผลิตภัณฑ์จากตอกไม้ไผ่ เช่น ตะกร้า กระจาด ส่วนใหญ่นำส่วนของต้นไผ่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เหลือส่วนของใบที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ จึงนำวัสดุเหลือทิ้ง “ใบไผ่” มาสร้างและเพิ่มคุณค่า โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษจากใบไผ่ ต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ขั้นตอนในการผลิตกระดาษจากใบไผ่ เริ่มจากการคัดเลือกใบไผ่ที่จะนำมาทำเป็นกระดาษ ควรเป็นใบไผ่ที่สะอาด (ใช้ได้ใบไผ่สดและแห้ง)  ซึ่งใบไผ่ 1 กิโลกรัม ทำเป็นกระดาษ ได้  2-3 แผ่น (ขนาด 60×80 เซนติเมตร) นำใบไผ่ใส่หม้อต้ม ควรใส่น้ำให้ท่วมใบไผ่ นำโซดาไฟละลายน้ำนำใส่ลงในหม้อต้ม ต้มน้ำให้เดือดและรักษาอุณหภูมิ  2-3 ชั่วโมง หรือรอดูจนใบไผ่ที่ต้มมีความเปื่อยยุ่ย หรือฉีกตัวออกจากกัน ช้อนเอาใบไผ่ที่ต้มได้มาล้างน้ำเปล่า เพื่อให้สารโซดาไฟสลายตัวจากใบไผ่ (น้ำที่ได้จากหลังการต้มสามารถนำไปใช้ต้มในครั้งต่อไปได้)
เมื่อได้เนื้อใบไผ่ที่ต้มและล้างแล้วให้นำมาปั่นด้วยเครื่องปั่น นำเนื้อเยื่อใบไผ่ที่ปั่นแล้วไปลงอ่างช้อนกระดาษ ผสมกับน้ำสะอาด เมื่อช้อนเนื้อเยื่อด้วยเฟรมแล้วให้นำตากแดดประมาณ 1 วัน โดยต้องเป็นอุณหภูมิแสงแดดที่สม่ำเสมอ
กระดาษจากใบไผ่ สามารถนำไปต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษห่อของขวัญ ปกหนังสือ กระเป๋า โคมไฟ ผลิตภัณฑ์ใส่อาหาร
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบและเป็นทางเลือกให้กับกลุ่ม  OTOP ที่มีความสนใจ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยจากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ช่วยลดปัญหาการว่างงานในชนบท  สามารถต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจพอเพียงภายในชุมชนอีกด้วย

 
 

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]