‘4 SMART’มทร.ธัญบุรี มหาวิทยาลัยนวัตกรรม 24 ชม.

          มหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งความรู้ที่เพียงเข้ามาครึ่งวันแล้วเดินออกไป แต่ต้องทำให้ 24 ชั่วโมง นักศึกษาได้ใช้ชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วเกิดการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้มากที่สุดมหาวิทยาลัยจึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาบริการ การเรียนการสอนต่างๆ ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา
กรุงเทพธุรกิจ ชั่วโมงนี้หากองค์กรไหนไม่ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรมก็คงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ “สถาบันอุดมศึกษา” หน่วยงานในการผลิต พัฒนาทรัพยากรของประเทศที่ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรง เพราะไม่ใช่เพียงจำนวนของเด็กที่ลดลง แต่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องรอให้ครู อาจารย์มาป้อนอีกต่อไป และใบปริญญาอาจจะไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา

          แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี ระยะ 20 ปี จึงต้องพัฒนาจากมหาวิทยาลัยนักปฏิบัติมืออาชีพ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใน ปีการศึกษา 2563 นี้ จะปรับโฉมมหาวิทยาลัยสู่Smart Digital Transformation เพื่อ ขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่องสู่ มหาวิทยาลัยนวัตกรรม โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมด้วย 4 SMART ภายใน 3 ปี
คือ 1.Smart Infrastructure เพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลอัจฉริยะ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ บล็อกเชน ไอโอที เป็นต้น เพื่อจะสร้าง Smart Building อาคารอัจฉริยะด้วย IoT ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วย Wifi&Mobility  เป็น Smart Space ยกระดับ Data Centerให้ได้มาตรฐานสากล เป็น Smart Data Center ด้วยระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ Smart Monitoring & Security
2.Smart Learning& Research ยกระดับการเรียนรู้และวิจัย Personalized Learning โดยจะมีการพัฒนา Smart Content เพื่อการเรียนรู้แบบการศึกษาตลอดชีวิต และธนาคารหน่วยกิต รองรับ Up Skill และRe Skill เพราะมหาวิทยาลัยในอนาคตไม่ใช่แหล่งความรู้ หรือผลิตคนระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่ต้องเป็นแหล่งพัฒนาคนในทุกช่วงวัย นอกจากนั้นจะมีการยกระดับห้องสมุดเป็น Smart Library ด้วยนวัตกรรม มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลและDashboard หรือหน้ากระดานที่ใช้ในการสรุปข้อมูลแบบ Executive ในมุมมองต่างๆ เพื่อให้สามารถดูได้ง่าย ใช้เวลาในการตีความสั้น และสามารถตอบโจทย์ในทางธุรกิจได้ เพื่อสนับสนุนและรองรับการทำงานวิจัยให้มีนวัตกรรม
3.Smart Management  สนับสนุนการบริหารและตัดสินใจด้วยข้อมูลอัจฉริยะ เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรองรับ Big Data และมีระบบ การจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพด้วยบล็อกเชน รวมถึงจะมีระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการ เช่น การลงเวลาเข้างาน การเข้าเรียนของนักศึกษา เป็นต้น โดยต้องมี ระบบและทีมงานวิเคราะห์ข้อมูล ขนาดใหญ่เพื่อการบริหารและตัดสินในของผู้บริหาร
4.Smart Service เพิ่มคุณค่าการบริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งในเรื่องRMUTT SmartLife นักศึกษาและบุคลากรเกิดการรับรู้และมีประสบการณ์ในการรับบริการต่างๆ มีการพัฒนา Mobile Apps Service Portal เพื่อรวบรวมบริการทั้งหมดให้บริการได้ผ่าน Smart Phone เช่น การลงทะเบียนเรียน การเช็คชื่อเข้าเรียน การร่วมกิจกรรม การทบทวนบทเรียน อีกทั้งจะมีการให้บริการธุรกรรมทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นดิจิทัลสำหรับนักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่าและบุคคลภายนอกที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย
นิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมได้นั้น มหาวิทยาลัยต้องนำเทคโนโลยี และปรับโฉมให้เป็นดิจิทัลที่ทุกคนสามารถใช้งาน ใช้บริการได้จริงๆ ซึ่งขณะนี้แผนดังกล่าว ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารในการดำเนินการ
โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ จะเริ่มมีการนำ Mobile Apps Service Portal มาให้นักศึกษาและบุคลากรได้ใช้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การลงทะเบียนเรียน การตรวจสอบตารางเรียนตารางสอบ การส่งงาน ตรวจงานของอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงมีการบริการการซื้ออาหารที่โรงอาหาร หรือการชำระค่าเล่าเรียนต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเข้าใช้บริการใดๆ ของมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว โดยมหาวิทยาลัยจะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยเปลี่ยนให้มทร.ธัญบุรี เป็น Smart Digital Transformation
ซึ่ง 4 SMART ที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการนั้น เป็นการจัดทำแผน มหาวิทยาลัยที่จะใช้ในทุกคณะ ทุกภาคส่วน และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเด็กและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้ทุกคนเมื่อตื่นเช้ามาก็อยู่กับโทรศัพท์มือถือ เขาสามารถรู้ว่าตนเองเรียนห้องไหน ตึกไหน อาจารย์จะรู้ว่าสอนห้องไหน ที่ไหน เด็กสามารถเช็คชื่อ และสามารถเรียนอีเลิร์นนิ่งเสริมได้ พวกเขาสามารถซื้ออาหารที่โรงอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นได้ และตกเย็นถ้าเขาจะไปออกกำลังกาย หรือใช้บริการต่างๆ ทำให้ชีวิตนักศึกษาSMART ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม และการขอใช้บริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในระบบการเรียนการสอน การใช้บริการต่างๆ ของนักศึกษา และบุคลากรของมทร.ธัญบุรี ไม่ใช่เพียงอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคนเท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการยกระดับการพัฒนาทักษะDigital การเรียนรู้ การสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ของภาคเอกชน และประเทศร่วมด้วย
“มหาวิทยาลัยต้องนำเทคโนโลยี และปรับโฉม ให้เป็นดิจิทัลที่ทุกคน สามารถใช้บริการ ได้จริง’

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]