ชั่วโมงนี้หากองค์กรไหนไม่ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรมก็คงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ “สถาบันอุดมศึกษา” หน่วยงานในการผลิต พัฒนาทรัพยากรของประเทศที่ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรง เพราะไม่ใช่เพียงจำนวนของเด็กที่ลดลง แต่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงความรู้ข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องรอให้ครู อาจารย์มาป้อนอีกต่อไป และใบปริญญาอาจจะไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา
“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี” สถาบันการศึกษาที่ตั้งเป้าเป็น “มหาวิทยาลัยนวัตกรรม (Innovative University)” เน้นสร้างนวัตกรที่ไม่ใช่เพียงคิดเป็น แต่ยังสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ จะปรับโฉมมหาวิทยาลัยสู่สมาร์ท ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่องสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา มทร.ธัญบุรี ระยะ 20 ปี เพื่อพัฒนาจากมหาวิทยาลัยนักปฏิบัติมืออาชีพสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และได้มอบหมายให้ในการจัดทำแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมด้วย 4 สมาร์ท ภายใน 3 ปี
คือ 1.สมาร์ทอินฟราสตรัคเจอร์ เพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ บล็อกเชน ไอโอที เป็นต้น เพื่อจะสร้าง Smart Building อาคารอัจฉริยะด้วย IoT ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วย Wifi&Mobility เป็น Smart Space ยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ ให้ได้มาตรฐานสากลเป็นสมาร์ทดาต้าเซ็นเตอร์ ด้วยระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ Smart Monitoring & Security
2.สมาร์ทเลิร์นนิ่ง แอนด์ รีเสิร์ช ยกระดับการเรียนรู้และวิจัย Personalized Learning โดยจะมีการพัฒนาสมาร์ทคอนเทนต์ เพื่อการเรียนรู้แบบการศึกษาตลอดชีวิต และธนาคารหน่วยกิต รองรับอัพสกิล และรีสกิล เพราะมหาวิทยาลัยในอนาคตไม่ใช่แหล่งความรู้ หรือผลิตคนระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่ต้องเป็นแหล่งพัฒนาคนในทุกช่วงวัย นอกจากนั้นจะมีการยกระดับห้องสมุดเป็นสมาร์ทลิบรารี ด้วยนวัตกรรมมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลและ Dashboard หรือหน้ากระดานที่ใช้ในการสรุปข้อมูลแบบเอ็กซ์คลูซีฟในมุมมองต่างๆ เพื่อให้สามารถดูได้ง่าย ใช้เวลาในการตีความสั้นและสามารถตอบโจทย์ในทางธุรกิจได้เพื่อสนับสนุนและรองรับการทำงานวิจัยให้มีนวัตกรรม
3.สมาร์ทแมเนจเมนต์ สนับสนุนการบริหารและตัดสินใจด้วยข้อมูลอัจฉริยะ เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรองรับบิ๊กดาต้า และมีระบบการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพด้วยบล็อกเชน รวมถึงจะมีระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการ เช่น การลงเวลาเข้างาน การเข้าเรียนของนักศึกษา เป็นต้น โดยต้องมีระบบและทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการบริหารและตัดสินในของผู้บริหาร
4.สมาร์ทเซอร์วิส เพิ่มคุณค่าการบริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งในเรื่อง RMUTT SmartLife นักศึกษาและบุคลากรเกิดการรับรู้และมีประสบการณ์ในการรับบริการต่างๆ มีการพัฒนา Mobile Apps Service Portal เพื่อรวบรวมบริการทั้งหมดให้บริการได้ผ่านสมาร์ทโฟน เช่น การลงทะเบียนเรียน การเช็กชื่อเข้าเรียน การร่วมกิจกรรมการทบทวนบทเรียน อีกทั้งจะให้บริการธุรกรรมทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นดิจิทัลสำหรับนักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่าและบุคคลภายนอกที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย
นิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การที่จะเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมได้นั้น มหาวิทยาลัยต้องนำเทคโนโลยีและปรับโฉมให้เป็นดิจิทัลที่ทุกคนสามารถใช้งาน ใช้บริการได้จริงๆ ซึ่งขณะนี้แผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารในการดำเนินการ
โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ จะเริ่มมีการนำ Mobile Apps Service Portal มาให้นักศึกษาและบุคลากรได้ใช้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลงทะเบียนเรียน การตรวจสอบตารางเรียนตารางสอบ การส่งงาน ตรวจงานของอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงมีการบริการการซื้ออาหารที่โรงอาหาร หรือการชำระค่าเล่าเรียนต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเข้าใช้บริการใดๆ ของมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว โดยมหาวิทยาลัยจะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยเปลี่ยนให้มทร.ธัญบุรี เป็นสมาร์ท ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น
มหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งความรู้ที่เพียงเข้ามาครึ่งวันแล้วเดินออกไป แต่ต้องทำให้ 24 ชั่วโมง นักศึกษาได้ใช้ชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วเกิดการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้มากที่สุด ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาบริการ การเรียนการสอนต่างๆ ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ขณะนี้ มทร.ธัญบุรี ได้นำเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้บริการนักศึกษา และคณาจารย์อยู่แล้ว แต่เป็นลักษณะของแต่ละหน่วยงาน
ซึ่ง 4 สมาร์ทที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการนั้น เป็นการจัดทำแผนมหาวิทยาลัยที่จะใช้ในทุกคณะ ทุกภาคส่วน และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเด็กและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้ทุกคนเมื่อตื่นเช้ามาก็อยู่กับโทรศัพท์มือถือ เขาสามารถรู้ว่าตนเองเรียนห้องไหน ตึกไหน อาจารย์จะรู้ว่าสอนห้องไหน ที่ไหน เด็กสามารถเช็กชื่อและสามารถเรียนอีเลิร์นนิ่งเสริมได้ พวกเขาสามารถซื้ออาหารที่โรงอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นได้ และตกเย็นถ้าเขาจะไปออกกำลังกายหรือใช้บริการต่างๆ ทำให้ชีวิตนักศึกษาสมาร์ทในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม และการขอใช้บริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในระบบการเรียนการสอน การใช้บริการต่างๆ ของนักศึกษา และบุคลากรของ มทร.ธัญบุรี ไม่ใช่เพียงอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคนเท่านั้นแต่ยังมีกระบวนการยกระดับการพัฒนาทักษะดิจิทัล การเรียนรู้ การสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ของภาคเอกชน และประเทศร่วมด้วย
“มหาวิทยาลัยต้องนำเทคโนโลยีและปรับโฉมให้เป็นดิจิทัลที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้จริง”