‘ศิลปะร่วมสมัย’ ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มิ.ย. 2565

“ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม” นิทรรศการรวบรวมผลงานศิลปนิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทชั้นปีสุดท้ายของปีการศึกษา 2564 จากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะทั่วประเทศจัดแสดงร่วมกัน โดยแสดงต่อเนื่องถึงปลายเดือนมิถุนายน ในพื้นที่ศิลปะ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นิทรรศการฯ ประกอบด้วย ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และงานจัดวาง กว่าร้อยผลงาน อีกส่วนหนึ่งพาชมแนวคิด เทคนิคสร้างสรรค์ การใช้วัสดุอุปกรณ์ใหม่ ๆ นำมาใช้ มีความหลากหลายและสะท้อนเอกลักษณ์

“เส้นทางชีวิต” สีน้ำมันบนผ้าลินิน โดย ดาวุธ มาลินี นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานเล่า ความประทับใจที่ได้เห็น ได้สัมผัสธรรมชาติใน ท้องถิ่นบ้านเกิดเมื่อครั้งวัยเยาว์ ได้เห็นวิถีชีวิต การดำรงชีวิตโดยพึ่งพากันของคนกับธรรมชาติ ทำให้เห็นคุณค่า ความงาม และบรรยากาศความอุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ก่อให้เกิดความคิดที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมา ฯลฯ

“อ้อมกอดของแม่” โดยอรัญญา บูรณะศิลป์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี “ทฤษฎีและประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ การสัมผัส การพบเห็น การจดจำ ผ่านประสาท สัมผัส ถูกนำมาวิเคราะห์ ถ่ายทอดผ่านผลงานภาพฉลุ สะท้อนเรื่องราวความรักความผูกพันของแม่และลูก ด้วยท่าทางของแม่อุ้มลูก ผสมผสานกับการจัดองค์ประกอบร่วมกับลายดอกไม้และใบไม้บนเครื่องแต่งกายของแม่ ใช้สีน้ำตาลสร้างมิติของสีที่ตัดกัน ให้ความรู้สึกอบอุ่นและมีน้ำหนักที่สวยงาม”

“วิถีย่านเมืองเก่า” ดินไทยเยื่อกระดาษและสื่อผสม โดย ฉัตรศิริ พิศาลโกศล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เล่าถึงเรื่องเล่าของบรรพบุรุษในวิถีชีวิตในพื้นที่บริเวณย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมนำมาซึ่งวัฒนธรรมที่ดีงาม ผู้คนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งรากฐานเหล่านี้ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน

จิตรกรรมสีอะคริลิก ไม่มีชื่อ โดย ธรรมฬาภรณ์ ธรรมสิทธิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาพในรูปทรงวงกลมซึ่งบอกเล่าถึง “การสำรวจและบันทึกธรรมชาติ มุมมองเรื่องราวการเดินทางผ่านงานจิตรกรรมและสื่อต่าง ๆ แสดงออกผ่านฝีแปรง สะท้อนถึงความเป็นตัวตนที่หลงใหลในความงดงามของสรรพสิ่งที่ปรากฏแวดล้อม ผลจากการสัมผัส สมดุลในระบบนิเวศวิทยา กระตุ้นให้เกิดแนวทางที่มุ่งหมายสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างตัวตน ต้นไม้ และป่า ที่เคียงคู่กันไปตราบที่โลกใบนี้ยังดำรงอยู่”

อีกส่วนหนึ่งจากนิทรรศการซึ่งถ่ายทอดพลังสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ศิลปะเรียนรู้ร่วมกัน.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]