คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ‘เผ็ดร้อน’ จากพืชผักสมุนไพร ปรับสมดุลสุขภาพใน ‘ฤดูฝน’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ก.ค. 2565
พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ในช่วงฤดูฝนอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ยิ่งระยะนี้มีฝนตกต่อเนื่อง ขณะที่บางวันร้อนอบอ้าว โอกาสเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนจึงเกิดขึ้นได้ง่าย.

การดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ชวนใช้รสชาติอาหารเป็นยา นำพืชผักสมุนไพรใกล้ตัวฤทธิ์ร้อนมาปรับสร้างสมดุลร่างกาย ทั้งนี้ ดร.ปุณยนุช อมรดลใจ หัวหน้าส่วนงานวิจัย คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ พาตามรอยรสเผ็ดร้อนจากพืชผักสมุนไพรนำมาดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝนว่า เมื่อพูดถึงพืชผักสมุนไพรมีบริบทที่มา ที่น่าสนใจต่างกัน

ถ้าพูดถึง สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ในภูมิภาคเอเชียถือได้ว่ามีความโดดเด่น และเมื่อพูดถึงความเผ็ดร้อนจากพืชผักสมุนไพรโดยเฉพาะพืชผักในครัว ผักสวนครัวของไทยในลำดับต้นจะนึกถึง พริก อีกทั้งมีพืชผักอีกหลายชนิดที่ให้ประโยชน์มีสรรพคุณทางยาส่งเสริมสุขภาพอีกมากมาย ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับศาสตร์แผนไทย ในความเผ็ดร้อนจะช่วยในเรื่องธาตุลม หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เคลื่อนไหวลำบาก การกินอาหารรสเผ็ดร้อน ไม่ว่าจะเป็น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า ผัดขิง ฯลฯ จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนเคลื่อนที่ดีขึ้น

“ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มองการเจ็บป่วยเกิดจากปัจจัยหลักได้แก่ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในซึ่งจะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ร่างกายเราจะประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ละคนจะมีธาตุหลัก เป็นธาตุประจำตัวหรือธาตุเจ้าเรือนเป็นปัจจัยภายใน อีกส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อน อากาศหนาว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้”
ในช่วง ฤดูฝน หรือ วสันตฤดู ธาตุในร่างกายที่หล่อเลี้ยงเป็นหลักได้แก่ ธาตุลม อาการที่พบได้บ่อยคือท้องอืด ท้องเฟ้อ ฯลฯ เมื่อฤดูฝนมาถึงคนโบราณจะมีเมนูอาหารสำหรับฤดูฝน เป็นการกินตามธาตุหรือกินตามฤดูเพื่อปรับ เพื่อเสริมสร้างความสมดุลดูแลตนเองห่างจากการเจ็บป่วย โดยรสเผ็ดร้อนจะเหมาะกับช่วงฤดูนี้”

หัวหน้าส่วนงานวิจัย ดร.ปุณยนุช ขยายความเพิ่มอีกว่า หากเป็น ฤดูร้อน คิมหันตฤดู ช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศมีความร้อนอบอ้าว กลุ่มเผ็ดร้อนจะไม่ได้รับเลือก แต่อย่างไรแล้วรสเผ็ดร้อนยังเหมาะสมที่จะ ส่งต่อไปในฤดูหนาว จากที่กล่าวในช่วงฤดูฝนอาหารการกินเพื่อดูแลสุขภาพ ควรเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชผักสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนเป็นรสนำ โดยผักสมุนไพรเด่น ๆ ที่ให้ความเผ็ดร้อนมีอยู่มาก อย่างเช่น พริก หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในอาหาร

“ความเผ็ดร้อนของ พริก นอกจากกระตุ้นให้อยากรับประทานอาหาร ในพริกยังมีสารสำคัญแคปไซซินในสารดังกล่าวสามารถนำไปสกัดทำเป็นเจล รักษากลุ่มอาการปวดข้อ ปวดเข่า แก้การอักเสบได้ดี ฯลฯ และในพริกยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซีสูง”
นอกจากพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เป็นอีกกลุ่มที่มีความโดดเด่น เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกขึ้นง่าย เป็นพืชผักที่มีอยู่ในหลายเมนูอาหาร กะเพรา ก็เช่นกัน ใบกะเพราให้ความเผ็ดร้อน ทั้งให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ใบกะเพรายังช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ฯลฯ

“พืชผักเหล่านี้ปลูกขึ้นง่าย บางครั้งวางลืม หรือปลูกทิ้งไว้ก็ให้ผลผลิต อย่างพริกนำเมล็ดปลูกลงในแปลงปลูก หรือปลูกใส่กระถางเป็นผักสวนครัว คู่ครัว นอกจากนี้ ในความเผ็ดร้อนที่มีอยู่ในพืชผักที่นำมาปรุงอาหารนำมากินแล้วกลิ่นหอม กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ยังสกัดน้ำมันหอมระเหย ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ นำมาใช้ประโยชน์ ให้ความสดชื่น หายใจสะดวกขึ้น”
สะระแหน่ ก็มีความน่าสนใจ ใบมีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน อีกทั้งยังมี กระเทียม ก็มีรสเผ็ดร้อน และจากที่กล่าวมีหลายชนิดที่นำมาใช้ปรุงอาหารและก็มีอีกหลายชนิดที่นำมาเป็นยา เป็นตำรับยาโดยจะมีวิธีปรุง มีขนาดที่ใช้ที่เหมาะสม มีรายละเอียด ฯลฯ ทั้งนี้หากมองในเรื่อง รสยาไทย แบ่งเป็นรสร้อน รสเย็น และรสสุขุม โดยรสสุขุม รสที่ไม่ร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป

“รสยาไทยจากที่กล่าวมี 3 รสหลัก แต่เมื่อพิจารณาจากคัมภีร์พบว่ารสยาแยกย่อยออกไป มีรสฝาด หวาน มัน เค็ม เปรี้ยว ขม ทั้งยังมีรสเมาเบื่อ ฯลฯ โดยแต่ละรสใช้เป็นสรรพคุณรักษา เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเลือกใช้สมุนไพรในการบำรุงร่างกายหรือบรรเทาความเจ็บไข้ ต่าง ๆ”
หัวหน้าส่วนงานวิจัย ดร.ปุณยนุช อธิบายเพิ่มอีกว่า การกินอาหารเหมาะสมกับฤดูกาลยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ไกลห่างจากการเจ็บป่วยได้ด้วยตนเองอย่างช่วงฤดูฝน สภาพอากาศชื้นเปลี่ยน แปลงบ่อย จากที่กล่าวพืชผักสมุน ไพรที่นำมาปรุงประกอบอาหารให้รสเผ็ดร้อนจะช่วยขับลม อย่างเช่น กะเพรา หลายประเทศให้ความสนใจกับพืชชนิดนี้ และในกลุ่มนี้ยังมี โหระพา แมงลัก ฯลฯ

เมนูยำ หรือพล่า จะเห็นว่ามีพืชผักสมุนไพรอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พริก ตะไคร้ มีสะระแหน่ โรยพอเหมาะให้ความครบเครื่อง ซึ่งก็คล้ายกับตำรับยา เวลาที่ทำยาต้ม หรือยาแผนไทยจะมีตัวยาหลักและตัวยาส่วนอื่น ๆ การทำอาหารก็เช่นกัน บางเมนูมีสมุนไพรเครื่องเทศหลายชนิด มีรายละเอียดที่น่าศึกษา

“การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ถูกหลักมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี ทั้งนี้ควรทานให้มีความหลากหลาย ไม่ซ้ำอยู่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกทั้งควรสังเกตตนเอง โดยการดูแลตนเองก็ต้องมีความละเอียดกับตัวเองด้วย ช่น อาหารลักษณะนี้ช่วยขับเหงื่อได้ดี เหงื่อออกแล้วสดชื่น กระฉับกระเฉง ตัวเบา ฯลฯ”
ประเทศไทยมีผัก ผลไม้หลากหลายชนิด การกินอาหารก็เช่นกันควรให้มีความหลากหลาย อีกทั้งบางอย่างโบราณไม่ทำ ก็ควรต้องศึกษาสังเกต อย่างเช่น แกงขี้เหล็ก มีใบขี้เหล็กเป็น

วัตถุดิบสำคัญ คนโบราณจะไม่นำใบขี้เหล็กแกงในทันที จะนำไปต้มน้ำลวกนำความขมออกก่อน ต้มจนกระทั่งน้ำใสแล้วจึงคั้นน้ำออกและนำไปแกง

“ส่วนหนึ่งนี้แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอาหาร การทำอาหาร เช่นเดียวกับการนำสมุนไพรไปใช้ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรต้องศึกษาอย่างละเอียดครบถ้วน และนอกจากพืชผักที่กล่าวมา ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่ให้ความเผ็ดร้อน ที่นำมาปรับใช้ดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน อย่างเช่น พริกไทย นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้ม แกงจืด นำมาปรุงใส่ในผัด ฯลฯ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องเทศสมุนไพรสำคัญ

“พริกไทยมีฤทธิ์ร้อน ช่วงฤดูฝนเลือกนำมาดูแลสุขภาพ นำมาปรุงอาหารก็เหมาะกับฤดูกาล พริกไทยยังนำไปใช้เป็นสูตรยาช่วยขับลม อาการชาปลายมือปลายเท้า แขนขาอ่อนแรง หรือผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีแรง ฤทธิ์ร้อนของพริกไทยมีส่วนช่วยปรับสมดุล ดูแลสุขภาพ

พริกไทยที่นำมาทำอาหาร มีทั้ง พริกไทยขาว พริกไทยดำ ซึ่งพริกไทยดำ คือเมล็ดพริกไทยที่กะเทาะเปลือกออก ซึ่งก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพียงแต่การทำอาหารในบางเมนูอาจทำให้มีสีสันไม่สวย นอกจากนี้ยังมี พริกไทยสด นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู ที่เด่นชัดปรุงใส่ผัดฉ่า แกงป่า หรือนำมาโรยหน้าก็ให้ความกลมกล่อม เป็นต้น”

จากที่กล่าว ข่า ใบมะกรูด ก็ให้ความเผ็ดร้อน ช่วยเลือดลมไหลเวียนดี ขับลม และแก้จุกเสียด ฯลฯ ขิง ก็เช่นกัน โดยถ้านำมาสกัดน้ำมันขิงจะมีราคา ทั้งนี้ขิงนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ ขิงยังช่วยขับลม เคลือบกระเพาะอาหาร และแก้วิงเวียน คลื่นไส้ ฯลฯ จะเห็นว่ามีการนำขิงผสมกับไพล ซึ่งไพลก็มีฤทธิ์ร้อน นำมาเป็นยาทาภายนอก ถ้านำมาปรุงอาหาร นอกจากปรุงได้หลายเมนูแล้ว ขิงยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ โดย น้ำขิงทำได้ไม่ยุ่งยาก นำขิงแก่มาต้ม ฝานเป็นชิ้นใส่เพียงเล็กน้อยตามความชอบ ทั้งนี้หากเป็นขิงแก่จะยิ่งมีความเผ็ด

ในช่วงหน้าฝน น้ำขิงร้อน ๆ กลิ่นหอมจากขิงยังให้ความสดชื่น แต่อย่างไรแล้วหากนำมาเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ควรระมัดระวังเรื่องความหวาน หัวหน้าส่วนงานวิจัย ดร.ปุณยนุชให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่าพืชผักที่มีรสเผ็ดร้อนจากที่กล่าวนำมาใช้ในเชิงอาหารเสริมสร้างสุขภาพ ไม่ได้กินเป็นหลัก และนอกจากพืชผักสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพช่วงหน้าฝน

ถึงฤดูหนาวจะมีพืชผักใช้รสชาติอาหารเป็นยาโดยเลือกนำมาดูแลสุขภาพได้อีกโดยหน้าหนาวเหมันต์ มักจะเจ็บป่วยด้วยอาการหวัด ไอ มีน้ำมูก เมื่อถึงฤดูหนาวกินอาหารออกไปทางรสเปรี้ยวเป็นรสนำ ส่วนถึงฤดูร้อน กินอาหารรสเย็น ปรุงอาหารให้มีรสเย็น นอกจากพืชผัก มีผลไม้รสเย็น อย่างเช่นแตงโม แคนตาลูป ฯลฯ อีกทั้งมีพืชผักอีกหลายชนิดที่คุ้นเคย คุ้นชิน น่าศึกษานำมาเป็นอาหาร เป็นยาดูแลตนเองนับแต่เบื้องต้น โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นตัวอย่างพืชผักใกล้ตัว ที่นำมาปรุงอาหาร นำมากินสร้างเสริมสุขภาพ

ดูแลตนเองให้แข็งแรง ห่างไกลจากการเจ็บป่วย ส่งต่อสุขภาพดีต่อไปในทุกฤดูกาล.

“มีบริบทที่มา น่าสนใจต่างกัน”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]