สยามรัฐ ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2565
ทีมข่าวภูมิภาค
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า งาน”มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 หรือ Thailand Research Expo 2022″ ซึ่ง วช.ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้น ถือเป็นเวทีสำคัญระดับชาติในการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าของผลงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพพร้อมนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างเช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “บัวฉลองขวัญ” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยไทยกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงและสกัดสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศไทย พร้อมพัฒนาวิธีกักเก็บสารสำคัญเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสเต็มเซลล์จากพืช สร้างรายได้เพิ่มให้ทั้งเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ เพราะผลิตได้เองภายในประเทศทำให้ราคาถูกลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ
ดร.ไฉน น้อยแสง จากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หัวหน้าทีมวิจัยการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับบัวฉลองขวัญฯ เปิดเผยว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นโจทย์วิจัยที่มาจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและได้รับทุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจาก “บัว” ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย จึงเลือก “บัวฉลองขวัญ” ซึ่งเป็นบัวที่ผสมพันธุ์โดยอาจารย์ชัยพล ธรรมสุวรรณ นักพฤกษศาสตร์ชาวไทย เมื่อปี 2541 และปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกเพื่อตัดดอกขายเพราะดอกมีขนาดใหญ่ กลีบซ้อน มีสีม่วงสดสามารถบานได้ทนและบานได้หลายครั้ง
แต่เนื่องจากบัวในธรรมชาติ จะมีพวกโลหะหนักปนเปื้อนจากการปลูกทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย “ดร.ไฉน น้อยแสง จากมทร. ธัญบุรี ดร.เสาวณีย์ บัวโทน จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต และคุณกรรณิการ์ไวยศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัท เอส เอสยู พี ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางโอเรียนทอล ปริ้นเซส (Oriental Princess)” จึงนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช (plant cell culture technology) มาใช้เพื่อเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์จากพืชที่อาศัยอยู่ในส่วนของเนื้อเยื่อหน่ออ่อนหรือรากอ่อน ในสภาวะที่ปลอดเชื้อในห้องทดลองจนเกิดเป็นเซลล์ที่เรียกว่า “แคลลัส (callus)” ที่สามารถนำไปสกัดสารสำคัญได้ทันที โดยไม่ต้องนำไปปลูกให้เป็นต้นและออกดอกก่อนถึงจะนำมาใช้ได้ จึงเป็นการลดระยะเวลาในการผลิตสารสำคัญ ลดโลหะหนักปนเปื้อน และสามารถผลิตเป็นจำนวนมากในเชิงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงที่ทำให้เกิดเป็นแคลลัสได้ดี โดยไม่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตเป็นลำต้นหรือออกรากอีกด้วย
“งานวิจัยนี้ได้มีการไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการปลูกนาบัวอยู่แล้ว โดยส่งเสริมให้ปลูกนาบัวฉลองขวัญ หลังจากนั้นจะรับซื้อส่วนที่เป็นเหง้านำมาฟอกให้บริสุทธิ์ก่อนนำมาเลี้ยงในอาหารของพืช ปัจจุบันชุมชนตำบลคลองนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี สามารถสร้างรายได้จากการผลิตต้นพันธุ์บัวฉลองขวัญประมาณ 200 บาทต่อต้นขณะที่ มทร.ธัญบุรี ซึ่งร่วมกับวิสาหกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญและสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญสามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ ในราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางบริษัท เอส เอสยู พี (ประเทศไทย) จำกัด จะรับซื้อสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญประมาณ 10 กิโลกรัมต่อเดือน”
ผู้สนใจ สามารถชมผลงาน “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “บัวฉลองขวัญ” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย” รวมถึงผลงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 700 ผลงาน ได้ที่งาน”มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 วันที่ 1- 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ