คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: สังเกต’เมฆ’สภาพอากาศสื่อสารความสมดุลธรรมชาติ

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2565
พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ลมฟ้าอากาศ ภูมิอากาศมีความเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การติดตามข่าวสาร เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีความสำคัญ…

เมฆ กลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็กเกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศ นอกจากความสวยงามของเมฆ เมฆมีรูปร่างแปลกตาสีของเมฆยังสื่อสารบ่งบอกปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ หรือสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ชวนสังเกตเมฆ เรียนรู้เมฆบนท้องฟ้า โดย ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ชูสกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า เมฆ คือสถานะหนึ่งของน้ำ โดยน้ำสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ในสถานะหลัก ๆ จาก ไอน้ำ หยดน้ำและเป็นน้ำแข็ง

ทีนี้การเกิดเมฆ อาจเป็นไอน้ำแล้วควบแน่นในสภาพที่เหมาะสม โดยถ้าอยู่ในสภาวะเหมาะสมจะเกิดการควบแน่น และในสภาวะเหมาะสมก็เป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่ผิวดิน หรือสูงกว่านั้น ทั้งนี้ถ้าเกิดการควบแน่นใกล้พื้นดินก็จะเรียกว่า หมอก แต่ถ้ายิ่งอยู่สูงขึ้นไป ละอองน้ำด้านในซึ่งประกอบไปด้วยเกล็ดน้ำแข็งตามความสูง โดยยิ่งสูงยิ่งหนาว ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาละอองน้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง เป็นละอองน้ำแข็ง เมฆที่เราเห็นถ้ายิ่งลอยอยู่สูงจะมากไปด้วยเกล็ดน้ำแข็งเล็ก ๆ แต่ถ้ามีความสูงลดลงมาจะมีความผสมกัน ทั้งที่เป็นละอองน้ำเล็ก ๆ และละอองน้ำแข็งเล็ก ๆ และถ้าใกล้ผิวดินจะเป็นละอองน้ำอย่างเดียวไม่มีน้ำแข็งปน

อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ขยายความเพิ่มอีกว่า เมฆก้อนน้อยใหญ่บนท้องฟ้า นอกจากชวนมอง ชวนสังเกตในรูปร่างเมฆที่มีความสวยงามแปลกตา ถ้าพูดถึงการคาดการณ์สภาพอากาศ โดยศึกษาจากเมฆ อย่างกรณี เมฆฝน ถ้าเห็นลักษณะเมฆ การก่อตัวของเมฆก็พอจะคาดเดา ทำนายได้ โดยเมฆฝนจะมีลักษณะการก่อตัวเป็นแนวตั้ง ซึ่งมีความเฉพาะตัว ถ้าสังเกตเห็นเมฆลักษณะนี้และหากมีเมฆอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ก็พอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดฝน

แต่ทั้งนี้การเกิดเมฆแนวตั้งอาจไม่ได้สัมพันธ์กับฤดูกาล โดยถ้ามีเงื่อนไขมีต้นทุนน้ำ มีไอน้ำมากมีภูมิประเทศติดทะเลก็มีโอกาสเกิดเมฆแนวตั้ง เกิดฝนได้ง่าย เป็นต้น

“เมฆแนวตั้ง เป็นเมฆที่มีโอกาสเกิดเป็นฝน แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งแม้เมฆจะก่อตัวเป็นแนวตั้ง แต่ก็อาจไม่มีฝนตกลงมา ทั้งนี้อาจเพราะลมพัด นำพาเมฆกระจายไปที่อื่น ๆ จึงขาดความเหมาะสมไป เมฆแนวตั้งจากที่กล่าวถ้าเมฆก่อตัวขึ้นก็มีโอกาสเกิดฝน

แต่อย่างไรแล้วหากมีลมแรงมาปะทะ พัดพาเมฆไปตามทิศทางลมจะนำเมฆฝนไปตกในพื้นที่อื่น ทั้งนี้การเกิดเมฆแนวตั้งจะมีระยะเวลาการก่อตัวก่อนที่จะเกิดฝน แต่จากที่กล่าวถ้ามีเงื่อนไขที่เหมาะสมและคงที่ แต่ถ้าระหว่างการก่อตัวไม่สมบูรณ์จะไม่เกิดเป็นฝน”

ส่วนเมฆที่ไม่ใช่เมฆฝน อย่างเช่น ฤดูหนาว ที่กำลังจะมาถึง ไอน้ำในชั้นบรรยากาศจะไม่ค่อยมี จะสังเกตได้ว่า ท้องฟ้าในฤดูนี้ค่อนข้างใสสว่างไร้เมฆ ด้วยที่ไม่ค่อยมีไอน้ำซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเมฆ ฤดูกาลนี้จึงได้เห็นเมฆที่แตกต่างออกไป จะไม่เห็นเมฆแนวตั้ง ด้วยที่ปัจจัยไอน้ำไม่เพียงพอ

ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ชูสกุล ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า เมฆให้ความสวยงาม อีกด้านหนึ่งก็มีความอันตราย โดยเฉพาะ เมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเมฆแนวตั้ง เพราะช่วงการก่อตัวของเมฆแนวตั้งจะมีการขึ้นลงของไอน้ำหรือหยดน้ำในตัวเมฆ เกิดการเสียดสีกัน ชนกันจนเกิดประจุไฟฟ้าโดยถ้ามากพอก็จะเกิดเป็นฟ้าผ่า ก็จะยิ่งมีความน่ากลัว

อีกทั้งช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนองมักมีลมกระโชกแรง อาจทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือน หรือต้นไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง โดยมักเกิดขึ้นกับช่วงรอยต่อของสภาพอากาศเป็นผลมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิ อย่างช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือช่วงฤดูร้อนเปลี่ยนเป็นฤดูฝน ฯลฯ ซึ่ง เป็นอีกส่วนหนึ่งนี้เกิดขึ้นได้จากการศึกษาสังเกตเมฆ

เมฆบนท้องฟ้าเป็นเหมือนสัญญาณบอกเล่าสภาพอากาศ ทั้งนี้การศึกษาที่จะนำไปสู่การพยากรณ์อากาศ เฝ้าดูติดตาม มองการก่อตัวของเมฆจะเป็นเหมือนสัญญาณให้เตรียมตัว โดยถ้ามองในมุมนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ารู้ โดยผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า นอกจากนี้อาจเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่า ถ้าวันไหนตอนเย็น ๆ เห็นท้องฟ้าเป็นสีแดง วันรุ่งขึ้นหรือวันถัดไปฝนจะตก ทำให้เรา ได้เตรียมตัว เตรียมความพร้อมรับมือกับฝน ทั้งนี้ฟ้าแดงมีหลักทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้ และยังแสดงให้เห็นว่าไอน้ำในชั้นบรรยากาศมีมาก เมื่อมีไอน้ำมากก็น่าจะก่อตัวเป็นเมฆได้เร็ว เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นำมาคาดการณ์สภาพอากาศเบื้องต้น

แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่นั้น จากที่กล่าวแม้จะมีไอน้ำมากก็จริง แต่ถ้าเงื่อนไขไม่สมบูรณ์ โดยช่วงเวลาที่เมฆก่อตัว ถ้ามีลมพัดพาเมฆหายไปก็ไม่เกิดฝน หรือถ้าลมพัดพานำพาเมฆจากที่หนึ่งมารวมกับที่มีก็จะยิ่งเป็นแรงเสริมโอกาสที่จะเกิดฝนจะมีมากขึ้น เงื่อนไขของการเกิดฝนจึงมีหลายปัจจัย ปัจจุบันมีกลุ่มที่ให้ความสนใจศึกษา เฝ้าดูเมฆ โดยเมฆเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เป็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมเกื้อกูลให้การพยากรณ์แม่นยำชัดเจนขึ้น

“เมฆเป็นองค์ประกอบหนึ่งมีการเก็บข้อมูลปริมาณเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าในแต่ละวันเพื่อนำมาวิเคราะห์ควบคู่กับข้อมูล ด้านอื่น ๆ อย่างเช่น ถ้ามีปริมาณเมฆเจ็ดถึงแปดส่วนในสิบส่วนก็มีโอกาสที่จะเป็นเมฆฝน นำมาอ้างอิง นำมาศึกษาสภาพอากาศได้เช่นกัน แต่อย่างไรแล้วจากที่กล่าวต้องนำมาวิเคราะห์กับข้อมูลด้านอื่น ๆเสริมกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ เป็นต้น”

ก้อนเมฆที่มองเห็นบนท้องฟ้า นอกจากให้ความสวยงามชวนดูเพลิดเพลิน ชวนสังเกตรูปร่างรูปทรงเมฆที่เปลี่ยนแปลงไป อีกมิติหนึ่งเป็นสัญญาณบอกเล่าสภาพอากาศ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า บางคนนำประสบการณ์ อย่างชาวประมงที่เดินเรือบ่อย ๆ ก่อนออกเรือจะดูท้องฟ้า และอย่างที่เล่าถ้าท้องฟ้าแดงมักจะมีพายุตามมา มีลมกระโชกแรงก็จะไม่ออกเรือ หรือชาวนาจะนำสัญญาณจากธรรมชาติ ดูสีท้องฟ้า ก้อนเมฆ โดยแม้จะมีเมฆมากแต่ถ้าเป็นเมฆบางซึ่งในความบางจะมีความเบา เมฆก็พัดลอยไปได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเมฆที่ลอยอยู่นิ่ง ๆ มีความทึบ ไม่ว่าจะก้อนเล็กหรือใหญ่เมื่ออยู่ในเงื่อนไขสมบูรณ์ หรือมีเมฆก้อนอื่นพัดมารวมกันก็จะเกิดเป็นฝนได้มาก

โดยช่วงฤดูฝนจะเห็นชัดเจน ถ้าบางวันอากาศในตอนเช้าหรือช่วงกลางวันร้อนอบอ้าว ไม่มีลมสักเท่าไหร่ เมฆจะเริ่มก่อตัว พอเมื่อเงื่อนไขครบสุดท้ายจะตกลงมาเป็นฝน โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลา เย็น อีกทั้งเมฆยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสื่อสารถึงความสมดุลธรรมชาติ

“การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอก อย่างเช่น ฝนตก จากที่กล่าวเมฆเป็นต้นกำเนิดของฝน แต่ฝนกลับไม่ตกตามฤดูกาล ตกหลังจากฤดูการเพาะปลูก ในช่วงการเก็บเกี่ยวก็ทำให้เกิดความเสียหาย หรือช่วงหว่านข้าวก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ ข้าวก็ไม่เกิด ไม่งอกงาม ฯลฯ โดยปัญหาเหล่านี้เริ่มเห็นได้เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ”

การร่วมกันดูแลรักษาสมดุลธรรมชาติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจาก ในเรื่องฝนฟ้าอากาศ เมฆ ยังมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเมฆที่ต่ำสุดคือ หมอก หลักการเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน หมอกเป็น น้ำในอากาศชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็กมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นดิน หลายสถานที่จึงเป็นจุดชมวิว ชมความสวยงาม ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเที่ยว ชมทะเลหมอก

หมอกนอกจากมีความสวยงาม ในมุมมอง หมอกยังบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทั้งนี้การจะเกิดหมอกได้จะต้องมีการระเหยของน้ำ มีการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิที่เหมาะสม พื้นที่เดียวกันที่จะมีลักษณะนี้ได้จึงต้องมีปัจจัยที่พร้อม มีความสมบูรณ์ นอกจากนี้หมอกยังช่วยให้พื้นที่โดยรอบมีความ ชุ่มชื้น เมื่อมีความชื้นก็ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเป็นวัฏจักรต่อกัน ในทางกลับกันถ้าวัฎจักรเหล่านี้ขาดหายไปธรรมชาติก็ขาดความสมดุล สิ่งที่ควรมีก็ไม่มี แต่สิ่งที่ไม่ควรมีก็เกิดขึ้น หรือบางครั้งเกิดขึ้นมากเกินไป สิ่งที่ต้องการคือความพอเหมาะพอดีมีการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม ส่วนในต่างประเทศเมฆที่เป็นต้นกำเนิดของหิมะก็น่าชมและน่าศึกษาทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ ความสมดุลของธรรมชาติ

นอกจากนี้อาจเคยสังเกตเห็น ปรากฏการณ์หมวกเมฆสีรุ้ง ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความสวยงาม น่าชม และน่าศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของเมฆ บอกเล่าลมฟ้าอากาศที่สังเกตได้จากเมฆบนท้องฟ้า …

ให้เท่าทันสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับช่วงเวลานี้ที่ยังคงชุ่มฉ่ำไปด้วยฝน.

“รูปร่างสวยแปลกตา คาดการณ์สภาพอากาศ”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]