ค้านแต่งไปรเวตสอบ ศธ.กลัว’นร.ไม่มีวินัย’

มติชน ฉบับวันที่ 4 พ.ย. 2565

ร.ร.ดัง-มหา’ลัยแห่หนุน ชี้ผลดี-ทำเด็กไม่เครียด เน้นปั้นบัณฑิตคุณภาพ

ปลัด ศธ.ค้าน ทปอ.เปิดกว้าง น.ร.แต่งกายอิสระ-ทำสีเล็บ- สีผมเข้าสอบทีแคส ห่วงขาดวินัย ‘มทร.-มก.’หนุนเพื่อความสบายใจของเด็ก

ศธ.ค้านน.ร.สอบแต่งไปรเวต

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน กรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2566 หรือ ทีแคส 2566 โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ mytcas.com ซึ่งปีนี้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครสอบความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และความถนัดวิชาชีพ หรือ TPAT สามารถเลือกสอบด้วยกระดาษ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตามความสมัครใจ และอนุญาตให้ผู้เข้าสอบทาเล็บ ทำสีผม สวมใส่แว่นสายตา และคอนแท็กต์เลนส์เข้าสอบได้ ขณะเดียวกันอนุญาตให้สวมใส่ชุดสุภาพเข้าสอบ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งกายตรงกับเพศกำเนิด สามารถแต่งได้ทั้งชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดนักศึกษา หรือชุดสุภาพ คือ เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล กางเกงขายาว หรือกระโปรงยาวคลุมเข่านั้น

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะกังวลเรื่องความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม จบออกไปแล้วเป็นคนดี มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การที่ ทปอ.ออกระเบียบการจัดสอบดังกล่าว ต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องบ่มเพาะตั้งแต่อยู่ในสถาบันการศึกษา

ทปอ.มุ่งผลิตบัณฑิตคุณภาพ

นายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยและไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งกับ ทปอ. คิดว่านักเรียนน่าจะเกิดความสบายใจในการสอบ ถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้ง ทปอ.ก็ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นชุดที่สุภาพ เรียบร้อย ส่วนจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนขาดวินัยเมื่อเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น ไม่กังวล เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีกฎระเบียบของตนเอง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ขณะที่ปัจจุบันนี้หลายแห่งเปิดกว้างให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศทางเลือกได้ รวมถึง มทร.ธัญบุรี ก็ไม่ได้บังคับเรื่องการแต่งกาย แต่ขอให้ดูความเหมาะสม สิ่งที่มหาวิทยาลัยเน้นคือเรื่องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะ Soft Skills ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
“เรื่องนี้เคยหารือในที่ประชุม ทปอ.มทร. ซึ่งแต่ละแห่งมีระเบียบกฎเกณฑ์ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ให้อิสระนักศึกษาในการแต่งกายตามเพศทางเลือก โดยจะเน้นเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อให้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นายสมหมายกล่าว

ขณะที่นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มก.ไม่คัดค้าน เพราะถือว่าเป็นไปตามยุคสมัย ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็เปิดกว้างให้นิสิตสามารถทำสีผม ทาเล็บมาเรียนได้ แต่ขอให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ซึ่งก็มองว่าการแต่งกายด้วยชุดนิสิตนักศึกษาก็ทำให้ดูเรียบร้อยน่ารักสมเป็นนิสิตนักศึกษา ยกเว้นกรณีจัดกิจกรรม สามารถแต่งกายชุดอื่นได้ตามความเหมาะสม

น.ร.มีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย

ขณะที่ น.ส.พรชิตา หล่อทอง หรือน้องออม นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะเปิดกว้างให้เด็กใส่ชุดอะไรก็ได้มาสอบ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะการสอบนั้น เราเอาความรู้เข้าไปสอบ ดังนั้น ควรจะเปิดกว้างให้ใส่ชุดสุภาพมาเข้าสอบ

ด้านนายกัญญาภัทร ศิริ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย แม้ว่าการสอบไม่ได้วัดกันที่ใครจะใส่ชุดอะไรก็จริง แต่ควรมีระเบียบกำหนดเป็นภาพรวม หากเปิดกว้างให้ใส่ชุดอื่นเข้าสอบ เวลามองภาพรวมแล้ว อาจไม่เป็นระเบียบ แต่หากใส่ชุดนักเรียนเหมือนกันหมด ทำให้เวลามองภาพรวมแล้ว รู้สึกว่ามีความเป็นระเบียบมากกว่า เพราะสถานที่ที่เราไปสอบคือโรงเรียน เป็นศูนย์ราชการ สถานที่ราชการ ควรมีกรอบให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย

‘เชียงใหม่-โคราช’ขอกฎให้ชัด

ที่ จ.เชียงใหม่ ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า เท่าที่ดูจากประกาศของ ทปอ. เห็นว่าเขามีตัวอย่างให้ดูชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ เช่น ชุดสุภาพและชุดไม่สุภาพ มีบอกไว้ชัดเจนมาก ถือว่าเป็นการให้อิสระมากขึ้น เพราะเด็กบางคนที่มาเข้าสอบเป็นเด็กที่ซิ่วมา เขาอาจจะไม่มีชุด หรือไม่ทราบว่าจะใส่ชุดอะไร ส่วนเรื่องสีผมและเล็บ ปกติปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ห้ามอยู่แล้ว

“ในแง่ของการพิสูจน์ตัวบุคคล จะมีบัตรสามารถตรวจสอบได้ โดยรวมก็ถือว่าเปิดเสรีให้กับนักเรียน นักศึกษามากขึ้น เป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งกรรมการคุมสอบเองก็อาจจะชอบ เพราะมีสีสันสวยงามขึ้นมา ไม่น่ามีปัญหาอะไร ยกเว้นการเดินออกไปข้างนอกห้องสอบหรือสถานที่อื่นก็มีมาตรการดูแลกันไป” ศ.นพ.พงษ์รักษ์กล่าว

ขณะที่ จ.นครราชสีมา นายวิลาศ ดวงเงิน ผอ.โรงเรียนสุรนารีวิทยา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนระดับชั้นมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหาอะไรกับกฎเกณฑ์ใหม่นี้ เพียงแต่ขอให้ทางมหาวิทยาลัยที่จะจัดสอบ ช่วยกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่ทางสนามสอบจะได้ปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เพราะที่ผ่านมา โรงเรียนสุรนารีวิทยาเป็นสนามสอบมาโดยตลอด แต่เมื่อปีที่แล้วประสบกับปัญหาว่าทางมหาวิทยาลัยที่จัดสอบให้ทางโรงเรียนเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์การเข้าห้องสอบเอาเอง เช่น การแต่งกาย และการตรวจ ATK เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ปกครองและผู้เข้าสอบเกิดความสับสน

สงขลาเชื่อเด็กมีความรับผิดชอบ

ขณะที่ จ.สงขลา นายอุดม ชูลีวรรณ ผอ.โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาหรือผลกระทบอะไรจากมติของ ทปอ.ที่สามารถให้สวมชุดสุภาพ ทาเล็บ ทำสีผม เข้าสอบ โดยอาจจะคำนึงถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่เด็กมีความรับผิดชอบและจะปฏิบัติแนวทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการแต่งกายสุภาพ จะแต่งกายด้วยชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดสุภาพ ถือเป็นการเปิดกว้างให้เด็ก เป็นทางเลือกให้กับเด็ก โดยเด็กที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียน ก็เชื่อว่าจะยังปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของความสุภาพ อาจจะมีทางเลือกให้เด็กมากขึ้น แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่อาจจะมีการทำเล็บ ทำสีผม ซึ่งในช่วงของการสอบ TGAT-TPAT ในเดือนธันวาคม ยังเป็นช่วงที่เด็กยังต้องมาโรงเรียน ดังนั้นในบางกลุ่มที่ยึดถือระเบียบของโรงเรียนเป็นหลัก เค้าจะสามารถพิจารณาได้ว่าจะแต่งกายอย่างไร จะทำเล็บทำสีผมหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเด็กเองก็มีแนวปฏิบัติ สามารถคิดและทำ โดยคำนึงความถูกต้องและสุภาพเป็นหลักอยู่แล้ว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]