คอลัมน์ การศึกษา: ฟังเสียง ‘หนุน-ค้าน’ แต่งไปรเวตสอบทีแคส

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 – 17 พ.ย. 2565

ปรับกันมาตลอด สำหรับการรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2566 เปิดทางให้ผู้เข้าสอบ สอบความถนัดทั่วไป (TGAT) และความถนัดวิชาชีพ (TPAT) สามารถเลือกสอบด้วยกระดาษ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตามความสมัครใจ

ที่สำคัญอนุญาตให้ทาเล็บ ทำสีผม สวมใส่แว่นสายตา คอนแท็กต์เลนส์ ใส่ชุดไปรเวตเข้าสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งกายตรงกับเพศกำเนิด

แน่นอนว่า เสียงส่วนใหญ่ต่างสนับสนุน เพราะเข้ากับยุคสมัยที่ควรเปิดกว้าง โดยเฉพาะเรื่องเพศสภาพ ที่ควรมีอิสระได้แต่งกายตามเพศที่อยากเป็น ขณะที่อีกส่วนยังมีข้อกังวล โดยเห็นว่า อาจเป็นการให้อิสระที่มากเกินไป จนทำให้นักเรียนคุ้นชินกับเสรีภาพ จนขาดความมีวินัย

ในส่วนของฝ่ายค้าน อย่าง ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกชัดว่า ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะกังวลเรื่องความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม จบออกไปแล้วเป็นคนดี มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ การที่ ทปอ.ออกระเบียบการจัดสอบดังกล่าว ต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องบ่มเพาะตั้งแต่อยู่ในสถาบันการศึกษา

สอดคล้องกับ น.ส.ณัฐธยาน์ บุณยทวีพัฒน์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งบอกเช่นกันว่า ไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะเป็นไปตามยุคสมัย ที่ให้อิสระ ไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกายซึ่งเป็นปัจจัยทางกายภาพ แต่มุ่งไปที่เป้าหมายหรือผลลัพธ์คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แข่งขันกันที่ความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สิ่งที่ ทปอ.ต้องระวังและสร้างความเข้าใจควบคู่กันไป คือ แม้จะให้อิสระทางกายภาพ แต่จะทำอย่างไรจึงจะฝึกให้เด็กรู้จักกฎ กติกา ที่ใช้ร่วมกันในสังคมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ขณะที่ รศ.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เห็นต่าง โดยมองว่า นักเรียนน่าจะเกิดความสบายใจในการสอบ ถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้ง ทปอ.ก็ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นชุดที่สุภาพ เรียบร้อย ส่วนจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนขาดวินัยเมื่อเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น ไม่กังวล เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีกฎระเบียบ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

สิ่งที่มหาวิทยาลัยเน้นคือเรื่องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะ Soft Skills ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เน้นเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อให้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ส่วน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มก.ไม่คัดค้าน เพราะถือว่าเป็นไปตามยุคสมัย ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็เปิดกว้าง ให้นิสิตสามารถทำสีผม ทาเล็บมาเรียนได้ แต่ขอให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ซึ่งก็มองว่าการแต่งกายด้วยชุดนิสิตนักศึกษาก็ทำให้ดูเรียบร้อยน่ารักสมเป็นนิสิตนักศึกษา

ยกเว้นกรณีจัดกิจกรรม สามารถแต่งกายชุดอื่นได้ตามความเหมาะสม

ด้านนายวิลาศ ดวงเงิน ผอ.โรงเรียนสุรนารีวิทยา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนระดับชั้นมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ประจำ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรกับกฎเกณฑ์ใหม่นี้ เพียงแต่ขอให้ทางมหาวิทยาลัยที่จะจัดสอบ ช่วยกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่ทางสนามสอบจะได้ปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

ปิดท้ายด้วยนักวิชาการด้านการศึกษา อย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ ที่มองว่า เป็นเรื่องดี และน่าสนับสนุน และสิ่งที่อยากเห็น ทปอ.ทำต่อคือ อยากให้ ทปอ.ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการสมัครสอบที่มีหลายรอบ ควรจะหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาหารือร่วมกันว่า การสอบแต่ละรอบมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะปัจจุบันจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าจำนวนเด็ก

“ผมยังมีข้อเป็นห่วง หลังจากที่ ทปอ.อนุญาตให้เด็กแต่งชุดลำลอง ใส่แว่นเข้ามาในห้องสอบได้ อาจจะเปิดช่องให้มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อาจจะมีคนเอาอุปกรณ์ไฮเทคเข้ามาในห้องสอบ อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา พบคนเอาอุปกรณ์ไฮเทคเข้าห้องสอบ จนข้อสอบรั่วไหล เป็นต้น ดังนั้น แม้จะให้โอกาสคน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างช่องทางให้เกิดการทุจริตเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้ ทปอ.เฝ้าระวังเรื่องเหล่านี้ด้วย” นายสมพงษ์กล่าว

การปรับระบบต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำให้เป็นไปตามยุคสมัย เมื่อพี่ใหญ่อย่าง ทปอ.เริ่มเปลี่ยน ระดับขั้นพื้นฐานก็อาจต้องมาทบทวนความเหมาะสม แต่สิ่งที่ ทปอ.ต้องคิดต่อจากนี้คือ มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตสอบ และขอบเขตความอิสระ ที่จะไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นด้วย…

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]