‘จุฬา-เกษตร’เต้นสั่งเช็กอจ.ซื้อวิจัย เจอช้อปมาเป็นผลงาน-ฟันไม่เลี้ยง ‘มช.’ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรงแล้ว

มติชน ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2566
อธิการฯ มก.สั่งตรวจสอบอาจารย์ช้อปปิ้งงานวิจัย เจอลงโทษ ทันที ย้ำขอให้เชื่อมั่นส่วนใหญ่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล กรณีนักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ซึ่ง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการ และขอให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจัง หากพบว่าดำเนินการจริงต้องถือเป็นความผิดและลงโทษอย่างรวดเร็วนั้น ทางจุฬาฯเองมีกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มงวด และเชื่อว่าในแวดวงวิชาการจะรู้ข้อมูล และเห็นความผิดปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะกรณีการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ หากไม่มีความเชี่ยวชาญจริงจะมีการตั้งข้อสังเกตและตรวจสอบในเชิงวิชาการ

“การซื้อผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และในแวดวงวิชาการเอง มีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เชื่อว่าทาง อว.มีมาตรการกำกับดูแลและลงโทษอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่านอกจากกฎระเบียบที่เข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวดแล้ว อาจารย์และนักวิจัยเองควรต้องมีหิริโอตตัปปะ คือความเกรงกลัว หรือละอายต่อบาป เป็นคุณธรรมสำคัญ ที่จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ทำความผิด ส่วนกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญาอาจารย์ที่ไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น จุฬาฯดำเนินการมานานแล้ว เพราะอยากให้อาจารย์พัฒนาตัวเอง เพื่อนำความรู้มาสอนนิสิต” นายบัณฑิตกล่าว

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ยอมรับว่า มก.มีความกังวล จึงขอให้รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย ลงไปตรวจสอบข้อมูล เพราะ มก.มีหลายวิทยาเขต และมีนักวิจัยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีระบบตรวจสอบที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือได้อยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความรัดกุม จะดำเนินการตรวจสอบทั้งระบบอีกครั้ง หากพบมี ผู้กระทำความผิด จะดำเนินการลงโทษทันที ทั้งนี้ ในส่วนของบทลงโทษที่กำหนดโดยทาง อว.นั้น ค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว เพราะถือว่าการกระทำความผิดจริยธรรมทางวิชาการ มีโทษร้ายแรง ถึงขั้นไล่ออก ปลดออก ส่วนจะมีโทษทางกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ

“ผมจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้เกิดความชัดเจน หากพบผู้กระทำความผิด จะเร่งดำเนินการลงโทษทันที อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทั่วประเทศมีมากกว่าแสนคน พบผู้กระทำผิดทางวิชาการเพียงไม่กี่คน ไม่ได้หมายความว่าผลงานทางวิจัย หรือผลงานทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย จะไม่มีคุณภาพทั้งหมด ผมอยากให้มีความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก” นายจงรักกล่าว

นายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า ในส่วนของ ทปอ.มทร. จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุม ทปอ.มทร.ถัดไป เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อขายหรือทุจริตเชิงวิชาการขึ้น เบื้องต้นมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่สร้างผลกระทบให้ มทร.มากนัก เพราะส่วนใหญ่งานวิจัยของ มทร.จะเน้นการวิจัยที่สร้างนวัตกรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง งานวิจัยเหล่านี้ไม่สามารถซื้อขายได้ การซื้อขายงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ในส่วนของ มทร.นั้น นอกจากสร้างวิจัยเชิงนวัตกรรมแล้ว ยังมีพันธกิจในการสร้างวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่ ดังนั้น จะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการซื้องานวิจัยเกิดขึ้น ที่ผ่านมาตนในฐานะนักวิจัย มองว่างานวิจัยต้องสร้างด้วยตนเอง เพราะถือเป็นจรรยาบรรณของนักวิชาการ

“ในส่วนของ มทร.ธัญบุรีนั้น มหาวิทยาลัยไม่บังคับให้อาจารย์ต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่ขอให้ทำตามหลักเกณฑ์มหาวิทยาลัย ที่กำหนดว่าภายใน 5 ปี ต้องยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ใช่ทำงานเช้าชามเย็นชาม โดยอาจารย์จะต้องพัฒนางานวิชาการของตนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศ หากอาจารย์ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการแล้ว แต่ไม่ผ่าน มหาวิยาลัยไม่ทอดทิ้ง จะจัดให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเข้ามาดูแล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งได้” นายสมหมายกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. สั่งให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ สืบเนื่องจากได้มีนักวิชาการไทยในต่างประเทศออกมาเปิดโปงว่ามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ซื้อขายงานวิจัย เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัย ไม่ต้องลงมือทำวิจัยจริงๆ สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยในเว็บไซต์ที่ขายแล้วเลือกว่าอยากให้มีชื่ออยู่ในงานวิจัยชิ้นไหน โดยจะเป็นงานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคน จะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญ และการมีส่วนร่วม จากนั้นงานวิจัยจะถูกส่งไปตีพิมพ์ ผู้ที่จ่ายเงินสามารถนำเอางานวิจัยนี้มายืนยันว่าเป็นผลงานของตัวเองกับทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดได้ โดยปรากฏว่ามีชื่อนักวิจัยไทยไปปรากฏอยู่ในงานวิจัยประเภทนี้หลายสิบชิ้น เช่น งานวิจัยเรื่องวัสดุนาโน ชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ และชื่อที่ 3 เป็นอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยงานวิจัยที่มีการไปซื้อ ผู้แต่งร่วมจะมาจากหลายประเทศคนละมุมโลก ไม่รู้จักกันมาก่อนแค่มากดซื้องานวิจัยชิ้นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า นักวิจัยเหล่านี้มักทำวิจัยข้ามศาสตร์ที่จบ อย่างไรก็ตาม ได้มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ากรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือที่ถูกระบุว่ามีการซื้องานวิจัย พบว่าปี 2019 อาจารย์คนนี้มีงานวิจัยแค่ชิ้นเดียว แต่ในปี 2020 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และปี 2021 เพิ่มถึง 90 ชิ้น ต่อมาแวดวงวิชาการออกมาระบุเพิ่มว่ามีการจ่ายเงินซื้อชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 ในราคา 900 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 บาท จากนั้นได้นำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัย 1.2 แสนบาท จะได้เงินส่วนต่าง 90,000 บาท

ด้านเพจเฟซบุ๊ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การ กระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมทางวิชาการต่อไป

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]