แนวหน้า ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2566
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า การร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มทร.ธัญบุรีให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นการช่วยพัฒนาการเรียนการสอน เพิ่มทักษะทางวิชาชีพให้กับนักศึกษา รวมถึงจะก่อให้เกิดผลงานวิจัยใหม่ๆ ร่วมกัน โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมือด้านการศึกษากับหลายประเทศ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐเช็ก ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ล่าสุดตนเองได้นำคณะผู้บริหารและคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าร่วมโครงการอบรมพัฒนานโยบายและส่งเสริมการดำเนินการออกแบบพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์และดูงานทางด้านวิชาการ ณ Hof University of Applied Sciences สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยทั้งสองสถาบันการศึกษามีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา งานสหกิจศึกษาต่างประเทศ งานวิจัยและการศึกษาดูงานมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 และได้ชะลอตัวลงช่วงโควิด-19 การเดินทางไปในครั้งนี้จึงเป็นการร่วมมือกันอีกครั้ง โดยมหาวิทยาลัยทั้งสองมีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมสิ่งทอซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกัน และจะช่วยกันในการค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ
นอกจากนี้ มทร.ธัญบุรี ยังได้ ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและศึกษาดูงานกับ Technical University of Liberec สาธารณรัฐเช็ก ที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมวัสดุและสิ่งทออันดับต้นๆ ของยุโรป และมีลักษณะการเรียนการสอนคล้ายคลึงกับมทร.ธัญบุรี โดยก่อนหน้ามีความสำเร็จด้านความร่วมมือด้านวิศวกรรมสิ่งทอ รวมถึงทั้งสองมหาวิทยาลัยฯ ให้ความสำคัญการสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ผ่านทุนการศึกษาต่างๆ รวมทั้งโครงการ ERASMUS ที่ให้ทุนนักศึกษาของมทร.ธัญบุรี รวมกว่า 38 ทุน และได้ขยายความร่วมมือทางวิชาการไปยัง สาขาอื่นๆ เช่น ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แมคคาทรอนิกส์ ไอที และ สิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2566 จะมีนักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต และอาจารย์จาก Technical University of Liberec มาทำวิจัยที่มทร.ธัญบุรี เพื่อทำงานวิจัยร่วมกัน โดยจะมีการขอทุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อสนับสนุนงานวิจัย
“การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์โดยตรงจากต่างประเทศ ทางด้านวิชาการที่พัฒนาการสูง พัฒนาทักษะด้านภาษา ในส่วนของอาจารย์เป็นการเปิดโอกาสได้ร่วมงานวิจัยจากนักวิจัยชั้นนำของโลก ทำให้อาจารย์พัฒนาความรู้ใหม่ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจะ ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการทำงานวิจัยและถูกนำไปใช้อย่างแท้จริง”อธิการบดีกล่าวทิ้งท้าย