ผลงานสุดปังของเด็กไทยรางวัลสิ่งประดิษฐ์ 2559

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัด “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)” ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
งานนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อเชื่อมโยง บูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคมชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม ซึ่งปีนี้นำผลงานมาจัดแสดงจำนวนกว่า 600 ผลงาน และหนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่ได้รับการจับตามองและผู้มาชมงานให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก คือ โครงการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2559 มีผลงานจากนักศึกษาทั่วประเทศจำนวน 36 แห่ง ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 106 ผลงาน ภายใต้ 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ กลุ่มนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร กลุ่มนวัตกรรมด้านศิลปะและการออกแบบและกลุ่มนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวัสดุศาสตร์
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา จัดควบคู่กับการจัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างแรงจูงใจ และส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้นของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นที่ดีมีคุณภาพ สามารถผลิตผลงานสิ่งประดิษฐ์เผยแพร่สู่สาธารณชนให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น
มาดูผลงานของเยาวชนนักประดิษฐ์กันบ้าง โดยผลงานรางวัลดีเด่นด้านวิศวกรรม ศาสตร์และเทคโนโลยี “หุ่นยนต์ขนส่งอัตโนมัติ”หรือ กรั๊บบอต (GRUBBOT) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาด กระบัง ได้รับรางวัลดีเด่นกลุ่มนวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย นายเอกพัฒน์ เอกนรพันธ์ คณะวิศวกรรมระบบควบคุม เป็นตัวแทนกล่าวถึงผลงานว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ทำงานด้วยระบบสั่งการอัตโนมัติ ที่มีหน่วยความจำในการจดจำเส้นทาง มีเซ็นเซอร์ที่จะช่วยบอกไปยังระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ว่าเดินผ่านร้านอะไรบ้าง และจะใช้เวลาในการเดินทางเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยลดเวลาให้กับลูกค้าที่ไม่รู้ว่าร้านค้าที่ตัวเองต้องการไปอยู่ตรงไหน รวมถึงหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นเหมือนประชาสัมพันธ์ที่จะทำหน้าที่นำเสนอ โปรโมชั่นต่าง ๆ ภายในศูนย์การค้าได้อีกด้วย ในอนาคตจะทำการพัฒนาให้ลูกค้าสามารถสั่งงานได้ด้วยเสียง ซึ่งหากพัฒนาจนสามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะตอบโจทย์กับห้างสรรพสินค้าที่ต้องการนำเสนอบริการพิเศษให้กับลูกค้าโดยเฉพาะสาว ๆ ที่รักการชอปปิง
ผลงาน รางวัลดีเด่น ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี “เรือหุ่นยนต์สองทุ่นแบบใช้งานระยาวสำหรับสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลดีเด่น กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ประดิษฐ์และทำการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างน่าชื่นชม โดย นายคุณากร อนุวัตพาณิชย์ นักศึกษาปริญญา โท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า คนไทยมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเกษตรกร ในแต่ละปีไทยประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีปัจจัยหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งก็คือเกิดการตื้นเขินของแม่น้ำ ลำคลอง จึงต้องมีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองกันอยู่บ่อย ซึ่งเมื่อก่อนอาจต้องใช้คนลงไปสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ แต่เรือหุ่นยนต์สองทุ่นตัวนี้ จะช่วยให้การสำรวจใต้น้ำมีความแม่นยำ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จะทำให้การขุดลอกหรือการพัฒนาแหล่งน้ำทำได้สะดวก
ผลงาน รางวัลระดับดี ด้านวิศวกรรม ศาสตร์และเทคโนโลยี “การส่งผ่านพลังงานจากจักรยานออกกำลังกายสู่ระบบอุ่นอาหารโดยการให้ความร้อน ที่เกิดจากความต้านทานไฟฟ้า” เป็นผลงานความร่วมมือของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมการ อาหาร และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับรางวัลดีเด่น กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
โดย นางสาวปัทมา ชูเงินนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอาหาร ตัวแทนสมาชิกในทีม เผยว่า ต้องการให้เพื่อน ๆ หันมาปั่นจักรยานซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่กำลังได้รับความนิยม โดยพลังงานกลที่ได้จากการปั่นจักรยาน จะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานไฟฟ้า และแปลงจากพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานความร้อน ใช้สำหรับการอุ่นอาหาร ที่ติดตั้งอยู่ที่ด้านท้ายจักรยาน โดยใช้ระยะเวลาในการปั่นประมาณ 15 ที จะทำให้ได้ความร้อนเพียงพอต่อการอุ่นอาหารให้ร้อน อยู่ที่ประมาณ 80-90 องศา สามารถรักษาคุณภาพอาหารไว้ได้ 95% แต่ตอนนี้สามารถใช้อุ่นอาหารประเภทน้ำหรือของเหลวที่มีส่วนผสมของโซเดียมเท่านั้น เนื่องจากโซเดียมนำความร้อนได้ดี ในอนาคตจะทำการพัฒนารูปแบบจักรยาน เครื่องกลต่าง ๆ และภาชนะอุ่นให้มีความสวยงามมากขึ้น
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักประดิษฐ์เยาวชนเท่านั้น มาร่วมสร้างโอกาสและสนับสนุนให้พวกเขา ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติในอนาคต.
สาวสายเดี่ยว

C-160828004097-1

C-160828004097-2

C-160828004097-3

 

C-160828035011-1

C-160828035011-2

C-160828035011-3

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]