คอลัมน์ Life and City: ดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น เพิ่มคนไทยคุณภาพ

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 มี.ค. 2566
ทำรายงานไม่ทัน งานล้นมือ ติวหนังสือเตรียมสอบข้ามวันข้ามคืน นอนน้อย คะแนนสอบไม่ดี แล้วยังมีเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านหน้าจอในยุคนี้ สารพัดปัญหารุมเร้าที่บรรดานิสิตนักศึกษาต้องเผชิญ ก่อให้เกิดภาวะความเครียดหนัก วิตกกังวล บางคนถึงกับเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนครูอาจารย์ส่วนหนึ่งแทนที่จะรับฟัง กลับไม่เปิดใจ มองว่าไม่รับผิดชอบ ตำหนิ แทนที่จะเป็นที่ปรึกษาคอยให้กำลังใจ

หากปล่อยให้ความเครียดสะสมทุกวันตามลำพัง จะส่งผล กระทบต่อสุขภาพนักศึกษาและสภาวะจิตใจย่ำแย่ กรณีเลวร้ายที่สุดนำไปสู่การฆ่าตัวตายอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้นักศึกษามีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมต่อสู้กับทุกปัญหา และมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ต้องมานับศพพบกับความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ปัญหานี้นำมาสู่การผลักดัน “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนเชิงรุกดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่นักศึกษา พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัด สธ. และมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตสุขภาพ ล่าสุด มีการบอกเล่าผลการทำงานลดความเครียดนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า อว.มีสถาบันการศึกษาที่ต้องดูแลประมาณ 150 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคน ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาหมุนเวียนเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีประมาณปีละ 4.5 แสนคน แน่นอนนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยระหว่าง 18-22 ปี มีสภาวะความเครียดอยู่แล้ว จึงหาทางออกด้วยการทำ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ”

“นักศึกษาอยู่ในช่วงวัย 18-22 ปี เป็นวัยรุ่นและเป็นช่วงรอยต่อชีวิตนักศึกษากับการออกไปทำงานเมื่อจบการศึกษา ทำให้มีความเครียดอยู่แล้วสำหรับการปรับตัวเพื่อออกสู่สังคม โครงการนี้ทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ. 38 แห่ง และ มทร. 9 แห่ง กับกรมสุขภาพจิต ถือว่าได้ผลดี มีการคัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษากว่า 20,000 คน และช่วยให้นักศึกษาประมาณ 2,000 คน ดูแลสุขภาพจิตและจัดการกับปัญหาความเครียดได้ดีขึ้น ส่วนนักศึกษาที่ต้องบำบัดดูแลสุขภาพจิตมีประมาณ 300 ราย ต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล หลังจากนี้ อว.จะขยายผลไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป” ปลัด อว.กล่าว

มทร.ธัญบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบ มทร.ที่มีแนวทางการจัดบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ ผ่านทางคลินิกกำลังใจ หรือ Mind Counseling RMUTT กองทุนสุขภาพนักศึกษา ที่ เปิดให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรมานานกว่า 5 ปี ภายใต้ แนวคิด “ปกปิด-ปลอดภัย-เปิดใจ”

อีกแห่ง มรภ.พิบูลสงครามไม่ละเลยความเครียดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ร่วม MOU “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” กับศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพุทธชินราช และโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก มีการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพในมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตสุขภาพที่ 2 สนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลคู่เครือข่าย หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ในการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตให้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ให้พวกเขาต้องแบกรับความเครียดโดยลำพัง

นอกจากนี้ ร่วมกันพัฒนาระบบส่งต่อ ติดตามผู้ที่มีปัญหาความเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนดีขึ้น ผ่านการคัดกรองด้วยโปรแกรม Mental Health Check In และเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้แก่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตพื้นที่

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.โดยกรมสุขภาพจิต สนับสนุนโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจฯ ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษา มีผลสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า มรภ.ทั้ง 38 แห่ง มีโรงพยาบาลคู่เครือข่ายสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่เครือข่าย 51 แห่ง และ มทร.ทั้ง 9 แห่ง มีโรงพยาบาลสังกัด สป.เป็นคู่เครือข่าย 14 แห่ง ทั้งนี้ มีแนวทางการส่งเสริมป้องกันและดูแลส่งต่อตามระบบสาธารณสุขที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ พร้อมมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีเหตุวิกฤตของนักศึกษาเตรียมพร้อมไว้อีกด้วย รายงานกรมสุขภาพจิตจากผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงปัจจุบัน พบเยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย (อายุ 19-24 ปี) 26,887 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 25.68 และมีความเครียดสูงร้อยละ 19.21 ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด มีเพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น สอดรับกับผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 ที่พบว่าวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีระดับสุขภาพจิตต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภายหลังดำเนินโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565 เป็นต้นมา ได้คัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาไปแล้ว 23,740 ราย ในจำนวนนี้ไม่พบความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต 18,066 ราย แต่พบผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต 5,235 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (กลุ่มสีเหลือง) 1,630 ราย ขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจนดีขึ้นแล้ว 1,166 ราย อย่างไรก็ดี ในกลุ่มนี้พบจำนวนนักศึกษาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล (กลุ่มสีแดง) 399 ราย ขณะนี้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว 232 ราย กระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือที่ดีขึ้น คณาจารย์มีระบบในการช่วยเหลือ เป็นที่พึ่ง ทำให้ครอบครัวนักศึกษาอุ่นใจยิ่งขึ้น

นักศึกษาคือวัยรุ่น ทรัพยากรสำคัญของประเทศที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน พัฒนาบ้านเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องเอาใจใส่และช่วยกันดูแลสร้างภูมิคุ้มกัน.

คลินิกสุขภาพจิตปรึกษาฟรี

การรับฟังเมื่อเกิดความเครียดเป็นทางออกที่ดีที่สุด คลินิกสุขภาพจิตเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แก้ปัญหาซึมเศร้าได้ สำหรับนิสิตนักศึกษาและประชาชนสนใจปรึกษาด้านสุขภาพจิต ปรึกษาฟรี ปัจจุบันมีสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต หรือคลินิกสุขภาพจิต ครอบคลุมการให้บริการตรวจ รักษา บำบัดสุขภาพจิตของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่เป็นสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตรวม 110 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเทียบกับช่วงปี 2551 ซึ่งขณะนั้นทั่วประเทศมีให้บริการ 41 แห่ง สะท้อนสถานการณ์ปัญหาหนักหนาขึ้น

สำหรับคลินิกสุขภาพจิต ประกอบด้วยโรงพยาบาลหรือสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิต สธ. 20 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ส่วนใหญ่คือโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลประจำอำเภอที่มีความพร้อม 86 แห่ง, โรงพยาบาลในสังกัด อว. รวม 7 แห่ง, โรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในกำกับ กทม., โรงพยาบาลอานันทมหิดล สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก, โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม

ทั้งนี้ สธ.ได้ขยายการให้บริการเพื่อบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต รองรับกับแนวโน้มที่ประชาชนต้องการเข้ารับบริการทั้งการปรึกษา พัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต อาทิ สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323, การให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต, การเพิ่มฟังก์ชัน “ตรวจสุขภาพใจ” ในแพลตฟอร์มหมอพร้อม เป็นต้น.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]