สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายหลังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ (เทิร์นอะราวด์) มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการจำนวน 1 หมื่นราย โดยบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
ต่อความคืบหน้าโครงการฯ ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2559 โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.36 หมื่นราย ผ่านคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเพื่อรับคำปรึกษาแนะนำแล้วทั้งสิ้น 12,816 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 5,000 ราย
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก มทร.ธัญบุรี ได้เข้าวิเคราะห์ธุรกิจในเชิงลึกแล้วพบว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ 4,000 ราย สสว.ช่วยประสานให้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมได้ 2,000 ราย
ขณะที่ประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่มเทิร์นอะราวด์ที่ประสบอยู่ จำแนกออกได้เป็น 3 เรื่องที่สำคัญคือ 1.ยอดขายลดลงเพราะขาดช่องทางในการจำหน่ายสินค้า 2.ขาดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่างๆ 3.ขาดสภาพคล่องถูกเร่งรัดหนี้สินจากธนาคาร
สสว.และ มทร.ธัญบุรี จึงได้จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพต่างๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังต่อไปนี้
ประสานงานเพิ่มช่องทางในการขาย อาทิ งานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ การหาแนวทางลดต้นทุน โดยให้ความรู้ด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี การบริหารจัดการ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่างๆ โดยที่ปรึกษาของทางมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งเป็นภาคี จะช่วยพัฒนาตรวจสอบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ การให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และการสร้างแบรนด์ การวินิจฉัยให้คำปรึกษาเชิงลึก เพื่อปรับปรุงธุรกิจให้ความรู้ กรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากิจการเอสเอ็มอีเทิร์นอะราวด์ เพิ่มสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงกิจการและเงินทุนหมุนเวียนในการผลิต
โดยยื่นขอสินเชื่อจากโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมของ สสว. ซึ่งให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สสว.จะจัดตั้งคณะทำงานกลั่นกรองสินเชื่อ โดยมอบให้ ธพว.เป็นหน่วยร่วมรับหน้าที่ดำเนินการทางด้านสินเชื่อและติดตามดูแลลูกหนี้
ปัจจุบันผู้เข้าร่วมโครงการเทิร์นอะราวด์ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ามีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และได้รับการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายเดิมแล้วมีจำนวน 2,000 ราย โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีคุณสมบัติสามารถยื่นขอกู้จากเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมได้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 5,000 ราย และผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลอีก 1,000 ราย ที่มีข้อจำกัดทางด้านศักยภาพ สสว.ได้จัดโปรแกรมกิจกรรมเสริมศักยภาพการอบรมสัมมนา เช่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การใช้เว็บไซต์สำเร็จรูป การให้คำแนะนำทางด้านตลาด และการบริหารจัดการ
โดยภาพรวม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีของ สสว.ทั้ง 12,816 ราย ได้รับการส่งเสริมทางด้านการขาย การเพิ่มนวัตกรรมและการบริหารจัดการ
เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการฟื้นฟูกิจการให้เติบโต ได้ต่อไป
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559
c-160928006066