เรื่องโดย…..”ออนอาร์ต”
“นมัสเต…เนปาล
ข้าพเจ้าได้สัญจรผ่านเมืองขุนเขา
เต็มด้วยมิตรภาพระหว่างเรา
เสมือนแนบเนามาเนิ่นนาน…”
บทแรกของ “บทกวี” ผลงานของ “นายทิวา” แห่งคอลัมน์ “ใต้ถุนสภา”ของ “นสพ. บ้านเมือง” เขียนขึ้น และอ่านเป็นครั้งแรก ณ Nepal Academy ท่ามกลางกวีและศิลปินที่เข้าร่วมกิจกรรม “Creative Bridge”
กิจกรรม “Creative Bridge” เป็นกิจกรรมการแสดงผลงานศิลปะและบทกวีนานาชาติ จัดขึ้น ณ “ประเทศเนปาล” โดย “JARA Foundation” ซึ่งมี “Krishna Prasai” เป็นประธานมูลนิธิ
ตัวแทนจากประเทศไทยที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีทั้งหมด 6 คน โดยมี “เจน สงสมพันธุ์” อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำคณะ
พร้อมด้วยตัวแทน “กวี” จากประเทศไทย คือ “นายทิวา” หรือ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” ซึ่งเคยเดินทางไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นที่ “ประเทศบังกลาเทศ”
ผู้ร่วมเดินทางจากเมืองไทยยังมี “ชื่นกมล ศรีสมโภชน์” และ “จุฬารัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ในฐานะผู้ประสานงานและผู้แทน “JARA Foundation”ประจำประเทศไทย
ข้างฝั่งศิลปินไทย 2 คน ได้แก่ “สาโรจน์ อนันตอวยพร” ผู้มีชื่อเสียงด้านจิตรกรรมสีน้ำ จาก “ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” และ “ตนุพล เอนอ่อน”ศิลปินหนุ่มไฟแรง จาก “ม.มหาสารคาม”
คณะตัวแทนจากประเทศไทย ออกเดินทางจาก “สนามบินสุวรรณภูมิ” มุ่งหน้าสู่ “สนามบินตรีภูวัน” (Tribhuvan) ซึ่งตั้งอยู่ใน “กรุงกาฐมาณฑุ” เมืองหลวงของประเทศเนปาล โดย “การบินไทย”
สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และยังอยู่ระหว่างช่วงฤดูฝน ทำให้ “เครื่องบิน” ต้องบินวนอยู่ถึง 4 รอบ ก่อนจะร่อนลงรันเวย์ได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางความโล่งใจและเสียงปรบมือของเหล่าผู้โดยสารทั้งลำ
“ภาพอดีตบอกเล่าความทรงจำ
เรื่องเล่าถ้อยคำที่เล่าขาน
ลึกเร้นเบื้องลึกจิตวิญญาณ
ที่ไม่พ้นผ่านกาลเวลา”
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เที่ยวบิน “TG 311” เคยเกิดโศกนาฏกรรมในแดนหิมาลัยแห่งนี้ ภาพสนามบินและสภาพอากาศ ทำให้พวกเราเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัยเช่นในปัจจุบัน
“Krishna Prasai” แห่ง “JARA Foundation” ซึ่งพวกเราเรียกกันเป็นภาษาไทยว่า “กฤษณะ” เดินทางมารับพวกเราที่สนามบินด้วยตนเอง ก่อนจะ มุ่หน้าสู่ “Stone House” ที่ทำการมูลนิธิ
หลังแนะนำตัวและพักคลายเหนื่อยด้วย “ชา” ที่ “เจ้าบ้าน” จัดหามา บริการอย่างดี เราก็มุ่งหน้าสู่สำนักงาน “Federation of Business and Professional Women Nepal”
สถานที่สำคัญแห่งนี้กำลังมีการประชุมของ “สตรีชาวเนปาล” ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละเขต ในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม โดยมี “ผู้หญิง” เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
“นครแห่งความรักความงดงาม
โดยไม่มีคำถามอยู่ตรงหน้า
โดยไม่มีคำตอบผ่านสายตา
มีแต่ความเป็นมาที่เป็นไป”
เราได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเหล่าเจ้าของสถานที่ พร้อมกันนั้นก็เห็นถึง “พลังผู้หญิง” จากการประชุมครั้งนี้ และใช้เวลาทักทายกันครู่ใหญ่ ก่อนจะกล่าวอำลาเพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายถัดไป
เรามุ่งหน้าสู่ “ปาตัน” หรือ “ปาทาน” (Patan) ซึ่งได้รับการยกย่องว่า “เมืองแห่งความงาม” (City of Beauty) และเป็นหนึ่งใน “มรดกโลก” แห่ง “หุบเขากาฐมาณฑุ”
“หุบเขากาฐมาณฑุ” เป็น “มรดกโลก” บนพื้นที่กว่า 200 ตร.ไมล์ เป็นแหล่งวัฒนธรรม “เนวารี” โบราณ โดยมีอารยธรรมเก่าแก่ของ 3 เมืองสำคัญ คือ “กรุงกาฐมาณฑุ”,”ปาตัน” และ “บัคตาปูร์”
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน “ประเทศเนปาล” เมื่อปลางปี 2558 สร้างความเสียหายอย่างมาก ต่อแหล่งมรดกโลกที่ “ปาตัน” ซากปรักหักพังยังคงมีให้เห็น ควบคู่ไปกับการบูรณะซ่อมแซมจุดสำคัญต่างๆ
“นครแห่งความรักความงดงาม
ชั่วครู่ชั่วยามย่อมมิใช่
มีแต่ชั่วนิรันดร์อันยาวไกล
จากภายนอกสู่ภายในในใจเรา”
“วัดพระกฤษณะ” (Krishna Mandir) วัดสำคัญที่สุดแห่ง “จัตุรัสปาตัน” ซึ่งเสียหายอย่างหนัก อยู่ระหว่างบูรณะ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก มุ่งหน้ามาเยือนสถานที่สำคัญแห่งนี้
“ด้วยดวงตาเห็นธรรมชาติมี
ดวงตาแห่งธรรมวิถีแห่งขุนเขา
ดวงตาแห่งมิตรภาพที่แนบเนา
และแนบในใจเราเพื่อเข้าใจ”
เฉกเช่นเดียวกับ “สยมภูวนาถ” หรือ “สวยัมภูนาถ” (Swayambhunath)หรือเรียกกันทั่วไปว่า “วัดลิง” เพราะมี “ลิง” อาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นโบราณสถานผสมผสานระหว่าง “พุทธ” และ “ฮินดู”
“สถูป” ที่นี่เก่าแก่ที่สุดในเนปาล อายุเกือบ 2,000 ปี มี “ดวงตาเห็นธรรม” หรือ “Wisdom Eyes” อยู่ทั้ง 4 ด้าน ขณะที่อาคารโดยรอบได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เสียหายอย่างหนักเช่นกัน
ความแข็งแรงของ “วัฒนธรรม” ที่ฝังรากลึกอยู่ในผืนแผ่นดินนี้ สะท้อนผ่าน “ผู้คน” ที่พวกเราได้พบ และเชื่อมั่นว่า “ความงดงาม” ยังคงอยู่ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟู “สิ่งก่อสร้าง” อันเป็น “ตัวแทน” แห่งความงาม
เฉกเช่นท่อนท้ายของ “เนปาล…นมัสเต” ผลงาน “บทกวี” ของ “นายทิวา” ในวันแรกที่เยือน “เนปาล”
“นมัสเต…เนปาล
ข้าพเจ้าสัญจรพ้นผ่านความสงสัย
ภาพที่เห็นจากภายนอกสู่ภายใน
เป็นมาเพื่อเป็นไปชั่วนิรันดร์
ภาพที่ผ่านภายนอกสู่ภายใน
บ้านเมือง ฉบับวันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2559