edusiamrath@gmail.com
เมื่อเร็วๆนี้ สาขาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี จัดเวทีเสวนา “เที่ยวไทยมีเฮ เท่ หรือทำลายวัฒนธรรม” จากกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสมที่นำ “ทศกัณฐ์” ตัวเอกจากเรื่องรามเกียรติ์ มาเป็นตัวชูโรงใน MV เที่ยวไทยมีเฮ มานำเสนอประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมถกประเด็นอย่างน่าสนใจ
“ไม่ได้คัดค้านการนำโขน มาทำโฆษณา หรือห้ามนำตัวทศกัณฐ์มาใช้ แต่อยากให้ยึดจารีตของการแสดงโขน อย่าเพียงใช้ให้เป็นกระแส”
นายมาโนช บุญทองเล็ก หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในฐานะครูโขน เปิดประเดิมเวที และยังกล่าวว่า จากการดู MV ลักษณะการนำเสนอมีหลายมิติ การใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งทางด้านความบันเทิง การค้า และธุรกิจ ใน MV ใช้ทศกัณฐ์เป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง รามเกียรติ์ ได้รับอิทธิพลมาจากรามายณะ ของประเทศอินเดีย ได้ซึมซับมาเป็นรูปแบบ ซึ่งสังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องคุณค่า ตัวทศกัณฐ์มีฐานานุศักดิ์ ในเรื่องของจารีตที่เจ้าเมืองควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งทางวรรณกรรมมาแปลงและสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ด้วยจารีตวิชาชีพ ในด้านนาฏศิลป์กำหนดไว้ ในส่วนของ MV ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังขาดองค์ความรู้ ในเรื่องของจารีตของโขน ทศกัณฐ์แคะขนมครกสามารถทำได้ แต่ทศกัณฐ์ขี่ม้าไม่เหมาะ หรือแม้แต่การไปนั่งกินข้าวกับเหล่าทหาร มีช่องว่างของตัวละคร โดยตามหลักความเป็นจริง คนที่สามารถเข้าใกล้ทศกัณฐ์ มีเพียงยักษ์เสนาบดี 2 ตัวคือ เปาวนาสูร และมโหทร
ขณะที่ผู้สอนวรรณคดีผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวรอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้เขียนหนังสือนามปากกา “ทัศนาวดี” ให้มุมมองว่า ในฐานะที่สอนวรรณคดี ในการนำเรื่องราวมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ทุกอย่างมีที่มาและที่ไป ในเรื่องของจารีตของแต่ละแขนง ซึ่งสามารถเกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหยุดได้ เช่นในเรื่องภาษา ในส่วนของภาษาในเฟซบุ๊ก โดยส่วนตัวในการอิงกระแสต้องดูความถูกต้องของจารีตว่า ควรใช้หรือไม่ควรใช้จารีตในเรื่องของความเชื่อ ความสามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องคำนึงว่านำมาใช้อย่างไรเกิดจากความรู้หรือเจตนา ในการนำเรื่องราวมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิต หรือการนำมาสื่อสารต้องให้ข้อคิด คือสิ่งสำคัญในการนำมาใช้ ส่วนตัวอยากให้เนื้อหาใน MV มีความรู้ และความรู้สึกให้เกิดความพอดีวางบทบาทอยู่ในสังคมร่วมสมัย”ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับความศรัทธาที่มีมาแต่เดิม” ผศ.ดร.สุทัศน์กล่าวด้านนายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทย หัวหน้าสาขาภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี มองว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกในบทบาทนั้นจริงหรือที่ภาษาในปัจจุบันเรียกว่า “อิน” ทุกอย่างมีที่อยู่เฉพาะของมันทั้งสิ้น เช่นเรื่องของภาษาพูดและภาษาเขียน ความคิดรวบยอด (Concept) และเนื้อหา (Con tent) ไม่เหมือนกัน สำหรับ MV เที่ยวไทยมีเฮ มองว่าเท่ หรือทำลายตนเองว่ามีทั้ง 2 แง่ ทำอย่างไรก็ได้ให้สองสิ่งนี้มาอยู่ร่วมกัน การนำทศกัณฐ์มาใส่ความเท่ ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง วัฒนธรรมกับเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน อยู่ที่การเลือกวิธีใช้
ปิดท้ายที่ผู้แสดงโขนเป็น “ทศกัณฐ์” คิดอย่างไร นายวุฒิศักดิ์จ้องสาระ นักศึกษาชั้นปี 4 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา เล่าว่า เป็นการนำวัฒนธรรม มานำเสนอผ่านเรื่องราวการท่องเที่ยว ซึ่งตนเองคิดว่าถูกใจวัยรุ่นหลายๆ คน สร้างความแปลกใหม่ให้แก่ยุคสมัย แต่อีกในมุมมองหนึ่งในฐานะของนักแสดงโขน ซึ่งรับบทเป็นทศกัณฐ์ ตนเองคิดว่า ในการนำเสนอเรื่องราว ควรเป็นเรื่องราวที่ถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากความถูกต้องจะสอนลูกหลานรุ่นหลังได้เข้าใจในเรื่องราวที่ถูกต้อง เมื่อโฆษณาออกมาผิดๆ จะทำให้คนดูจำสิ่งที่ผิดๆ
ต่างคนต่างความคิดเห็น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างบอกและสะท้อนเป็นสิ่งเดียวกันว่า ควรใส่องค์ความรู้ลงไปใน MV ด้วย