สสว. เร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูกิจการ SMEs วงเงิน 2,000 ล้านตามมติ ครม. เผยปลัดคลังเห็นชอบหลักเกณฑ์แล้วรอเสนอบอร์ดสสว. ขณะกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม 1,000 ล้าน เริ่มปล่อยกู้ให้ SMEs ได้แล้ว 17 ราย วงเงิน 13.22 ล้าน
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ว่า สสว.ได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อเตรียมการ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานได้มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมได้มีการเห็นชอบหลักเกณฑ์และกลุ่ม SMEs เป้าหมายที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือว่าจะกว้างและมีความยืดหยุ่นมากกว่าการให้กู้ยืมตามโครงการกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1,000 ล้านบาทที่ สสว.กำลังดำเนินการอยู่
ทั้งนี้กองทุนพลิกฟื้นให้กู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 7 ปีกับ SMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงินและได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ขณะกองทุนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,000 ล้านบาท นอกจากจะให้กู้ยืมเงินแล้วยังจะให้การอุดหนุน หรือเข้าร่วมกิจการ หรือร่วมทุน หรือลงทุนกับ SMEs ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน โดยได้ยื่นคำขอเข้ามาทางศูนย์ช่วยเหลือ SMEs ของรัฐบาลที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล(SMEs Rescue Center) ดังนั้นวิธีการให้ความช่วยเหลือจะทำได้กว้างขวางมากกว่าการให้กู้ยืมเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นคณะกรรมการดำเนินการยังได้ตกลงให้ธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ในสังกัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นหน่วยร่วมดำเนินการกลั่นกรอง SMEs ที่ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งน่าจะช่วยให้การปฏิบัติงานจริงสามารถดำเนินไปได้รวดเร็ว
สำหรับส่วนของกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1,000 ล้านบาทที่ สสว.กำลังดำเนินการนั้น ได้ร่วมกับธนาคาร SMEs และภาคีอื่นๆ ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งในระยะแรกยอมรับว่า การพิจารณากลั่นกรองการให้กู้ยืมทำได้ค่อนข้างช้า เพราะกระบวนการทำงานยังไม่ลงตัว แต่ได้พยายามปรับปรุงให้รวดเร็วขึ้นเพียงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 กองทุนพลิกฟื้นได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 17 ราย วงเงินรวม 13.22 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 7.7 แสนบาท
ทั้งนี้การอนุมัติเงินกู้ดังกล่าวนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ในหลากหลายประเภทธุรกิจ หลากหลายพื้นที่ ยกตัวอย่าง SMEs ที่ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ SMEs ที่ประกอบกิจการด้านธุรกิจการเกษตรทั้งการผลิตปุ๋ย จำหน่ายถุงปุ๋ย ผลิตรถอีแต๋นและจำหน่ายอะไหล่ในจังหวัดภาคกลาง เป็นต้น โดย ณ ขณะนี้มี SMEs ที่ยื่นขอรับความช่วยเหลือทางการเงินมายังกองทุนพลิกฟื้นและ SMEs Rescue Center มากกว่า 3,000 ราย
“นอกจากความช่วยเหลือด้านการเงินแล้ว สสว. ยังให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการพัฒนา SMEs ของ สสว. เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การช่วยหาสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นางสาลินีกล่าว
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559