คอลัมน์ NEXT Gen: แว่นตานำทาง ‘PMK Glasses’ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการสายตา

ผู้ที่เคยมองเห็นโลกกว้างอย่างสดใส แต่วันหนึ่งต้องประสบกับปัญหาสายตาไม่สามารถมองเห็นอย่างในอดีต นอกจากจะส่งผลทางด้านจิตใจแล้ว ยังสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
3 สถาบันจึงร่วมวิจัยคิดค้นนวัตกรรม “PMK Glasses Navigator”แว่นตานำทาง เพื่อช่วยผู้ป่วยทางสายตา นำโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี, ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมด้วย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อรองรับผู้ป่วยทางสายตา ที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด
พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้า ในบางรายนอกจากบาดเจ็บทางสมองแล้วอาจสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นแว่นตานำทางนี้จะมีประโยชน์ในการช่วยให้พัฒนาทักษะในด้านการเดิน โดยแว่นตานำทางนี้จะช่วยในการฝึกเดินหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ผู้ป่วยทางสายตาไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด อุปกรณ์แว่นตานำทางช่วยให้ผู้ป่วยได้เดินอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ตาบอดรายอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม ผู้ออกแบบแว่นตานำทาง”PMK Glasses Navigator” กล่าวว่า แว่นตานำทาง ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นโครงสร้าง (Hardware)จะประกอบไปด้วยโครงสร้างกล่องพลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ไมโครคอนโทรลเลอร์ ชุดตรวจจับและวัดระยะทางด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค ชุดบันทึกเสียง แบตเตอรี่ ขนาด 9 โวลต์ ส่วนที่สองจะเป็นซอฟต์แวร์ โดยใช้ภาษาซีในการเขียนควบคุมการทำงานทั้งระบบ สำหรับหลักการทำงานผู้ป่วยสวมแว่นตานำทาง เวลาผู้ป่วยเคลื่อนไหวตนเองด้วยการเดิน เมื่อเจอสิ่งกีดขวางคลื่นอัลตร้าโซนิคจะตรวจจับและวัดสัญญาณสะท้อนกลับมาพร้อมกับมีเสียงบอกระยะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงและ สามารถรับรู้ถึงสิ่งกีดขวางด้านหน้าว่าอยู่ที่ระยะเท่าไร จะได้หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
แว่นตานำทางนี้สามารถวัดระยะได้ไกลถึง 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 0.2 กิโลกรัม ใช้แบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์ สามารถใช้งานได้ราว 2 เดือน ส่วนระยะทางขึ้นอยู่กับการใช้งาน ขณะเดียวกันเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในบ้านของตนเอง ที่มีความคุ้นเคยสภาพแวดล้อมภายในบ้านระดับหนึ่ง ก็สามารถเลือกใช้กล่องนำทางขนาดเล็กโดยไม่ต้องสวมแว่นตา โดยสามารถถือกล่องนำทางขนาดเล็กไว้ด้านหน้า พร้อมกับกดปุ่มทุกครั้งที่ต้องการวัดระยะทาง ทำให้ผู้ป่วยสามารถได้ยินเสียงและรู้ระยะทางว่ามีสิ่งกีดขวางด้านหน้าเช่นเดียวกับการใส่แว่นตา
ทั้งนี้ แว่นตานำทางได้ถูกนำไปทดลองใช้กับทหารที่ประสบอุบัติเหตุ ตาบอดทั้งสองข้างจากการเก็บกู้ระเบิด ที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายจากการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น สามารถลดอุบัติเหตุ หรือหกล้มจากการเดินชนสิ่งของได้เป็นอย่างดี ซึ่งแว่นตานำทางนี้ มีต้นทุนในการผลิตชุดละประมาณ 5,000-6,000 บาทเท่านั้นนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ที่ไม่ได้พิการทางสายตามาแต่กำเนิด สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติตามอัตภาพ.

นภาพร พานิชชาติ
napapornp@dailynews.co.th
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559
c-161030035041-1

c-161030035041-2
c-161030035041
c-161030004103-1

c-161030004103-2

c-161030004103

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]