เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นักศึกษาภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทุกชั้นปี วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 บนผนังอาคาร
นายนรากร สิทธิเทศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตรกรรม กล่าวว่า กว่า 70 ปีในการทรงงานตามสถานที่ต่างๆ โดยมิได้เหน็ดเหนื่อย พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและการทำงานให้กับประชาชนชาวไทย หนึ่งในนั้นคือตนเองที่ได้แบบอย่างการทรงงานและการใช้ชีวิตของท่านมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน
“เพื่อไว้อาลัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นปี ภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กว่า 50 คน วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ลงบนผนังอาคาร โดยทางคณะสอนการวาดภาพโดยตรง จึงอยากนำความรู้ที่เรียนนำมาใช้แสดงความรักต่อในหลวง รวมไปจนถึงตัวนักศึกษารู้รักในคุณค่าของตนเอง เกิดเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดความยาว 8 เมตร 30 เซนติเมตร ความสูง 2 เมตร 70 เซนติเมตร บนผนังอาคารตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ ใช้เวลา 2 วัน และอีกหนึ่งภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดความยาว 3 เมตร 60 เซนติเมตร ความสูง 2 เมตร 40 เซนติเมตร หน้าคณะศิลปกรรม” อ.นรากรกล่าว
โบ๊ท นายอาทินันท์ สุวรรณไตร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เผยว่าเมื่อทราบข่าวรู้สึกเศร้าเสียใจและมืดหม่นมาก จนไม่สามารถรับข่าวสาร ทางเฟซบุ๊กได้ พระองค์ท่านคือที่สุดในดวงใจ รู้สึกว่าชีวิตโชคดีที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยในรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายบนความพอเพียง มีน้ำพระทัยต่อพสกนิกร ผมและเพื่อนในสาขาวิชาจิตรกรรมจึงอยากวาดภาพของพระองค์ท่าน ถึงแม้ว่าขณะที่วาดภาพจะมีฝนตกลงมาเป็นอุปสรรค แต่ทุกคนตั้งใจที่จะวาด
เนย น.ส.วนมน ทับเที่ยง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ผลงานดังกล่าวเป็นการแสดงความรู้สึกร่วมกันต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยใช้ศิลปะการวาดภาพและการระบายสีจากความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรากฏเป็นภาพดังที่เห็น มีการใช้สีขาว สีดำและสีเทา สื่อถึงความรักความอาลัย เพราะพระองค์ทรงมีความผูกพันกับคนไทยมานาน ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ ในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานนี้รู้สึกซาบซึ้งใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง จะตั้งใจเรียนให้ประสบความสำเร็จ และนำคำสอนของพระองค์มาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในเรื่องความพอเพียง ขณะที่ นายไทวิวัฒน์ ปัจอังคาร หรือ เจ๊าะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า ทำหน้าที่เขียนลายเถาไม้เลื้อยเป็นหลัก เริ่มจากการดราฟต์ แล้วใช้สีเขียนทับและเก็บรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ผลงานดูมีมิติ น่าสนใจ ภายใต้การควบคุมของอาจารย์ ถือเป็นผลงานที่มีคุณค่าและมีผลต่อจิตใจ เป็นการร่วมกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวไทย
“จะยึดถือพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานและการดำรงชีวิต”
ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559