edusiamrath@gmail.com
เมื่อพระอัจฉริยภาพด้านหนึ่ง คือ วิศวกรรมศาสตร์และสอง คือ ดาราศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาผนวกเข้ากันกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คนไทยควรรู้ นั้นคือ “กล้องดูดาว ROTAR (โรตาร์) 1 และ 2 อันเกิดจากโครงการตามแนวทางพระราชปรารภ จัดสร้างโดยฝีมือคนไทย “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” มหาวิทยาลัยในนามพระราชทาน
โดยกล้องดูดาว ROTAR 1 ตัวแรกติดตั้งอยู่ที่ “หอสุริยทัศน์ราชมงคล” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และตัวที่สอง ROTAR 2 ติดตั้งที่ดาดฟ้าโรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กำเนิดกล้องดูดาว ROTAR
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรีเปิดเผยถึงโครงการออกแบบและสร้างกล้องดูดาว RO TAR (โรตาร์) 1 และ 2 ตามแนวทางพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นจากโครงงานของนักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2544 โดยมี ผศ.มนตรี น่วมจิตร์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และมี อาจารย์ไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส อาจารย์พิเศษ ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย โดยอาจารย์ไกรสีห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นวิศวกร ที่ปรึกษาออกแบบลิฟต์ให้สำนักพระราชวังอยู่ด้วย ได้เสนอให้ออกแบบและสร้างกล้องดูดาวขนาดใหญ่
การออกแบบเริ่มจากแบบสเกตช์ที่อาจารย์ไกรสีห์เคยเห็นมาจากหอดูดาวทรีบัว ในประเทศเยอรมนี เป็นหอดูดาวเอกชนที่ชาวบ้านเมืองนั้นทำกันเองนักศึกษานำแบบสเกตช์ไปเขียนแบบประกอบ และแยกชิ้นส่วน เพื่อนำไปผลิตตอนสร้างชิ้นส่วนกล้อง ความที่ไม่เคยทำมาก่อนจึง ลองผิดลองถูก ทำแล้วกล้องหมุนไม่ได้ความเร็วท้องฟ้าจึงตามดาวไม่ได้ เพราะคำนวณเฟืองผิด อีกทั้งลูกตุ้มถ่วงจะตีฐานกล้องอยู่ตลอด ต้องแก้แบบกันหลายรอบเวลาก็กระชั้น เพราะนักศึกษาต้องทำโครงงานให้เสร็จจึงจะสำเร็จการศึกษาได้ ตอนนั้นเกือบจะลดขนาดโครงการจากกล้องดูดาวอัตโนมัติ เป็นกล้องดูดาวมือโยกแล้ว แต่ ผศ.มนตรี ไม่ยอม บอกว่าทำแล้วต้องทำให้ได้ นักศึกษารุ่นนี้ทำไม่เสร็จ ก็ให้สอบโครงงานได้ จะขอคณบดีให้ แล้วให้นักศึกษารุ่นต่อไปทำต่อ
เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในปีเดียวขณะเดียวกัน อาจารย์ไกรสีห์ เปิดเผยว่า ได้นำปัญหาโครงงานไปปรึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ความที่กล้องดูดาวใหญ่และหนักไม่สามารถยกกล้องไปให้ดูได้ เพราะกล้องหนัก 800 กิโลกรัมจึงนำภาพกล้องที่มีคนยืนอยู่ข้างๆ ไปให้ดู ประโยคแรกที่คุณขวัญแก้วพูดคือ “อาจารย์ทำกล้องขนาดนี้ต้องถวายพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดาราศาสตร์ ท่านต้องดีพระทัย”
จึงได้นำเรื่องกลับมาเล่าให้ทีมงานฟัง เมื่อทุกคนได้รับ ฟังเรื่องจึงมีกำลังใจ ที่ต้องทำโครงงานให้เสร็จให้ได้ซึ่งใช้เวลาทำ 2 ปี กล้อง ROTAR 1 จึงเริ่มทดลอง คืนแรกที่คลองหก ส่องดวงจันทร์ เห็นหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์คมชัดทีมงานดีใจมาก
จนกระทั่งเมื่อปี 2545-2547 ในระหว่างทำโครงงาน 2 ปี ระหว่างนั้นนักศึกษาต้องเรียนปกติ นักศึกษาหนึ่งคนในทีมงานนี้ มีผลการเรียนต่ำน่าเป็นห่วงก็ต้องประคองกันไป (สุดท้ายสำเร็จการศึกษาทุกคน) ในการทำงานกลางวันเป็นนักศึกษาปกติ ตอนดึกเป็นช่างทำกล้อง ต้องเข้าโรงฝึกงานตอนเย็น ทำกันถึงตีสองเป็นปกติ ไม่รู้เอาพลังกันมาจากไหน กล้องดูดาวขนาด 600 มม. ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น หนัก 800 กิโลกรัม เวลาเคลื่อนย้ายต้องใช้รถเครน วัสดุเป็นของไทยเกือบทั้งหมด ในโรงฝึกงานของราชมงคลมีเครื่องจักรครบ กัดเฟืองยังทำกันเอง มีแต่เลนส์ที่สั่งผลิตจากอเมริกา และมอเตอร์ความละเอียดสูง ซื้อมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
…วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯถวายความก้าวหน้าโครงการที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อทอดพระเนตรโมเดลแล้ว ทรงมีพระราชปรารภทันทีว่า “กล้องจะหัวคะมำ” ทรงรับสั่งว่าพระองค์เคยทำแบบนี้แล้วที่ดาดฟ้าพระตำหนักเปี่ยมสุข โดยใช้ขาตั้งกล้อง 3 ขาธรรมดา ยกขาหนึ่งขึ้นโดยใช้ก้อนอิฐรองให้ได้มุมประมาณเท่ากับละติจูดของอำเภอหัวหิน ทรงเคยถ่ายรูปดาวเสาร์ด้วยกล้องฟิล์มและเลนส์ระยะไกลธรรมดาแต่กว่าจะถ่ายได้ทรงปวดหลังมาก เพราะกล้อง หัวจะคะมำตลอด รับสั่งว่าตำแหน่งประเทศไทยอยู่ละติจูดต่ำเพียงสิบกว่าองศา ใช้ฐานกล้องแบบอิเควทอเรียลไม่ได้ ต้องใช้แบบบริติช ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยมีให้ทีมงานออกแบบมาถวาย
ซึ่งในระหว่างที่ถวายงานอยู่ 45 นาที ทีมงานสงสัยว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงรู้เรื่องการออกแบบกล้องดูดาวได้อย่างไร แต่ไม่มีใครกล้าถาม พระองค์คงจะทรงรู้ว่าทีมงานมีความสงสัยอยู่ จึงรับสั่งว่า “ตอนเป็นเด็กฉันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ”
ทีมงานจึงได้น้อมนำพระราชปรารภเรื่องฐานกล้องไปศึกษาต่อ พบว่าฐานกล้องแบบบริติช หรืออิงลิช อิเควทอเรียลไม่มีใครใช้แล้ว เพราะประเทศที่อยู่ละติจูดสูงอย่างอเมริกาหรือยุโรปเขาใช้เยอรมันอิเควทอเรียลได้ หรือถ้าของใหม่กว่าเขาจะออกแบบเป็นอัลตาซิมุตกัน (ช่วงหนึ่งที่ถวายงาน พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า อัลตาซิมุตใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะที่จุดซีนิทจะเกิดการงัดกันของแกนสองแกน) เดิมทีสมัยที่อังกฤษมีอาณานิคมอยู่ประเทศแถบละติจูดต่ำ เมื่อสร้างกล้องดูดาวจึงต้องใช้แบบบริติชเท่านั้นเมื่อหมดยุคอาณานิคมจึงไม่มีการพัฒนากล้องดูดาวแบบบริติช กล้องดูดาวแบบบริติชจึงหาของจริงดูยากจะมีก็แต่ภาพ แต่ทีมงานอยากเห็นของจริง
โดยตนเองได้สอบถามคุณไมเคิล บาร์เบอร์ เพื่อนชาวอเมริกาที่เป็นนักถ่ายภาพดาวระดับแนวหน้าคนหนึ่งลองสืบดูว่าที่อเมริกา มีกล้องแบบบริติชแท้ๆ ให้ดูไหม พบว่ามีอยู่มีหอดูดาวโลเวล รัฐเอริโซนา จึงเดินทางไปดู ไปถึงหอดูดาวโลเวลแล้วหาฐานกล้องแบบบริติชไม่พบ จึงถามคนดูแล เขาบอกว่าที่นี่มีแต่ไม่ใช้นานแล้ว อยู่อีกหอข้างๆ ที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ เห็นแล้วจึงขอถ่ายภาพแจ้งเขาว่า จะไปทำถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย ผู้ดูแลดีใจให้ถ่ายภาพและวัดขนาดแกนตามสะดวก กล้องตัวนี้เป็นกล้องที่คุณไคลด์ ทอมบาวห์ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกาที่ค้นพบดาวพลูโต เมื่อปี ค.ศ.1930
การดำเนินงานโครงการ ROTAR 2 ใช้เวลาทำ 2 ปี แม้จะมีประสบการณ์จากโครงการเดิม แต่ระบบซับซ้อนมากขึ้น ทั้งกลไกขับแกนและเลนส์ เลนส์กล้องเป็นแบบริชชี่ เครเตียน ซึ่งดีกว่าแบบนิวโตเนียน ในโครงการเดิมมาก ทางทีมงานทำเลนส์เองไม่ได้ เช็กราคาแล้วสูงถึง 5 ล้านกว่าบาท เกินงบฯ ไปมาก จึงปรึกษาเพื่อนชาวเยอรมันเขาให้ไปหาที่แวเฮ้าส์อุปกรณ์ใช้แล้ว ที่เมืองซอลเลคซิตีรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่ไม่สามารถติดต่อเขาได้ต้องไปเคาะประตูเท่านั้น ไปรอบแรกเขาบอกว่าสเปกนี้ไม่มีแต่จะหาให้ อีก 3 เดือนเขาแจ้งมาว่ามีแล้ว แกะมาจากกล้องของกองทัพอากาศที่ปลดระวาง ต้องตัดสินใจเร็ว มีคนต้องการมาก เพราะเป็นเลนส์ริชชี่ขนาด 500 มม. ที่มีความหนาถึง 4 นิ้ว แถมเนื้อเลนส์เป็นเซรามิก สภาพดีมาก หนึ่งล้านบาท จึงเดินทางไปดูอีกรอบ ตกลงซื้อทันที
…กล้อง ROTAR 2 เสร็จตามกำหนด ทดสอบที่คลองหก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 กล้องหมุนอัตโนมัติตามดาวได้ห้านาที การปรับละเอียดสามารถทำได้เมื่อติดตั้งกล้องในตำแหน่งถาวรแล้ว ทีมงานคาดว่าเมื่อติดตั้งถาวร กล้องน่าจะตามดาวได้เกินครึ่งชั่วโมง
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้คณะทำงาน นำโดย รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ (อธิการบดีในสมัยนั้น) เข้าเฝ้าฯ ถวายกล้องดูดาว ROTAR 2 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “กล้องเสร็จแล้ว” นำความปลาบปลื้มให้ทีมงานอย่างหาที่สุดมิได้ ทีมงานได้รู้ซึ้งถึงคำว่า “หาที่สุดมิได้” ด้วยประสบการณ์ตรงครั้งนี้นี่เอง และทรงมีรับสั่งว่าให้นำกล้อง ROTAR 2 ไปติดตั้งที่ดาดฟ้าโรงเรียนวังไกลกังวล ส่วนกล้อง ROTAR 1 ให้ติดตั้งที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่าความปลาบปลื้มยังมิหมดเพียงเท่านั้น ในวันที่ 25 ตุลาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม หอดูดวงอาทิตย์ ให้กับมทร.ธัญบุรี โดยใช้นามว่า “หอสุริยทัศน์ราชมงคล” ทั้งยังทรงพระราชทานความหมายว่า “หอเป็นที่ดูดวงอาทิตย์อันเป็นศรีมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งหอดูดวงอาทิตย์แห่งนี้เป็นหอดูพระอาทิตย์คู่กับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนวังไกลกังวล
“นับเป็นบุญของชาวราชมงคลธัญบุรี ที่ได้ถวายงานสำคัญงานนี้ และได้สัมผัสถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยประสบการณ์ตรง” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจากมทร.ธัญบุรี