มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติจะคัดเลือกเด็กในระบบเดียวกัน โดยยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง เด็กมีสิทธิที่จะเลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิที่จะเลือกเด็กได้เช่นกัน ส่วนกระบวนการในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน จะมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้ 1.การรับเด็กในระบบโควต้าไม่ใช้การสอบ อาทิ โควต้านักกีฬา โอลิมปิกวิชาการ หรือ พิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน เป็นต้น เริ่มดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2560 เมื่อคัดเลือกเด็กได้แล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ. ทำการตัดสิทธิในระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์ภายในเดือนธันวาคม
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า 2.การคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจะจัดสอบทั้งการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT), การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต), การสอบวิชาสามัญ 9 วิชาและหากคณะ/สาขาใด ต้องการสอบวิชาเฉพาะ ก็ให้สอบในช่วงเดียวกันรวมถึงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่จะจัดสอบวิชาเฉพาะของกลุ่มแพทย์เองด้วย โดยจัดสอบช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน และเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 ต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ทปอ.มรภ.และ ทปอ.มทร. มีมติจะเข้าร่วมคัดเลือกนักศึกษา จนถึงกระบวนการเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะไปดำเนินการรับตรงเอง ส่วน ทปอ.จะดำเนินการเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และ 3.ถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ ก็สามารถไปรับตรงเพื่อคัดเลือกเด็กได้เอง แต่จะต้องไม่มีการไปจัดสอบในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ การสมัครในระบบโควต้า นักเรียนสามารถเลือกสมัครกี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิเลือกเข้าเรียนเพียงสิทธิเดียว หากเลือกแล้วไม่มีสิทธิสมัครครั้งต่อไป
“ที่ประชุมยังได้หารือว่า ขณะนี้มีโรงเรียนที่สอน English Program (EP) มากขึ้น ซึ่งมีการเรียกร้องให้ทำข้อสอบที่ใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับข้อสอบภาษาไทย เพื่อให้มีความเป็นสากล และเด็กเหล่านี้ที่เรียน EP จะได้อ่านข้อสอบได้เข้าใจและทำข้อสอบได้ ส่วนจะเริ่มเมื่อไรนั้นต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป” นายชัยพฤกษ์กล่าว และว่า ทั้งนี้ จะนำข้อสรุปที่ได้เสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาภายในสัปดาห์นี้