ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 นั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะคัดเลือกเด็กในระบบเดียวกัน โดยยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองเด็กมีสิทธิ์ที่เลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์คัดเลือกเด็ก ซึ่งกระบวนการในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนจะมีขั้นตอนดังนี้ การรับตรงในระบบโควตาที่ไม่ใช่การสอบ จะพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงานและให้สมัครทางออนไลน์ จะเริ่มดำเนินการช่วยเดือน ต.ค. 2560 เมื่อคัดเลือกเด็กได้แล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ.ทำการตัดสิทธิ์ในระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์ในเดือน ธ.ค.
ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า การคัดเลือกระบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนรวมทั้ง GAT, PAT, โอเน็ต และการสอบวิชาสามัญ 9 วิชา และหากคณะ/สาขาใดต้องการสอบวิชาเฉพาะก็ให้สอบในช่วงเดียวกัน คือต้นเดือน มี.ค.ถึงกลางเดือน เม.ย. รวมถึงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท.ที่จะจัดสอบวิชาเฉพาะของกลุ่มแพทย์เองด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกตัดสิทธิ์จากนั้นจะเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 ต้นเดือน พ.ค. โดย ทปอ.มรภ. และ ทปอ.มทร. มีมติจะเข้าร่วมคัดลเอกนักศึกษาถึงกระบวนการเคลียลิ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะไปดำเนินการรับตรงเองพร้อมกัน ส่วน ทปอ.จะเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 2 ในเดือน มิ.ย.ซึ่งจะเหมือนกับแอดมิชชั่นเดิม และรอบสุดท้ายจะเปิดให้มหาวิทยาลัยรับตรงอิสระ แต่มีข้อตกลงว่าจะต้องไม่สอบในรายวิชาที่ทับซ้อนกับที่สอบกลางไปแล้ว โดยจะดำเนินการในเดือน ก.ค.ทั้งนี้ การสมัครในระบบโควตา นักเรียนจะเลือกสมัครกี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิ์เลือกเข้าเรียนเพียงสิทธิ์เดียว หากเลือกแล้วจะไม่มีสิทธิ์สมัครครั้งต่อไป ส่วนเคลียริ่งเฮาส์สมัครได้ 4 สาขา สำหรับข้อสรุปที่ได้นี้จะนำเสนอ รมว.ศธ. เพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะวางแนวทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยต่อไป.