ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ศึกษาธิการ * ทปอ.มทร.-ทปอ.มรภ.เข้าร่วมระบบรับนักศึกษาใหม่ “เคลียริงเฮาส์” แค่รอบแรก จากนั้นขอรับตรงเอง ส่วนปี 60 ให้การรับตรงทำจากระบบโควตานักกีฬา และมหาวิทยาลัยดูจากแฟ้มผลการเรียนโดยรวม ไม่มีการสอบ เด็กยืนยันสิทธิ์เลือกได้แห่งเดียว ด้าน “ชัยพฤกษ์” เตรียมนำผลประชุมรายงาน “รมว.ศธ.” ขณะที่ ทปอ.เตรียมหารือออกข้อสอบเข้าศึกษาต่อเป็นภาษาอังกฤษใช้ควบคู่ภาษาไทย
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษา ธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) โดยที่ประชุมมีมติที่จะคัดเลือกเด็กในระบบเดียวกัน ซึ่งจะยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง เด็กมีสิทธิ์ที่เลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเด็กได้เช่นกัน ส่วนกระบวนการในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนจะมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 ทุกมหาวิทยาลัยจะเริ่มรับนักศึกษาผ่านระบบโควตาที่ไม่มีการสอบ เช่น โควตานักกีฬา และพิจารณารับนักศึกษาจากแฟ้มสะสมผลงาน เป็นต้น เมื่อมหาวิทยาลัยประกาศผลการคัดเลือกและเด็กยืนยันสิทธิ์เรียบร้อย ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายชื่อให้ทาง ทปอ.ภายในเดือนธันวาคม เพื่อทำการตัดสิทธิ์ในระบบเคลียริงเฮาส์ต่อไป ทั้งนี้ การสมัครในระบบโควตา นักเรียนสามารถเลือกสมัครกับมหาวิทยาลัยกี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิ์เลือกเข้าเรียนเพียงสิทธิ์เดียว หากเลือกแล้วไม่มีสิทธิ์สมัครครั้งต่อไป
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจะจัดสอบทั้งการสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต, การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา สำหรับคณะ/สาขาวิชาใด ต้องการสอบวิชาเฉพาะ ก็ให้มีการจัดสอบในช่วงเดียวกัน รวมถึงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ที่จะจัดสอบวิชาเฉพาะของกลุ่มแพทย์เองด้วย เมื่อหมดช่วงการสอบก็จะเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ ครั้งที่ 1 ต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ทปอ.มรภ.และ ทปอ.มทร.มีมติจะเข้าร่วมคัดเลือกนักศึกษาจนถึงกระบวนการเคลียริงเฮาส์ ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะไปดำเนินการรับตรงเอง ส่วน ทปอ.จะดำเนินการเคลียริงเฮาส์ ครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน สุดท้ายหากมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ ก็สามารถไปรับตรงในช่วงเดือนกรกฎาคมได้ แต่จะต้องไม่มีการไปจัดสอบ โดยผลจากการประชุมครั้งนี้ ผมจะเร่งนำรายงานให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมน ตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ต่อไป
ด้านนายประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม เกล้าธนบุรี ในฐานะเลขานุการ ทปอ. กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวนมากที่เปิดสอนในรูปแบบห้องเรียน English Program (EP) ทำให้มีเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านโจทย์ภาษาไทย ดังนั้นทาง ทปอ.จึงเตรียมที่จะหารือที่จะจัดทำข้อสอบ GAT/PAT และข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยจะจัดสอบควบคู่กับข้อสอบภาษาไทย เพื่อให้เด็กที่เรียน EP ได้แสดงความสามารถ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กต่างประเทศที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไทยสามารถสอบได้ด้วย ซึ่งสุดท้ายคงจะต้องนำไปสู่การปรับข้อสอบโอเน็ตด้วย แต่ข้อสอบโอเน็ตนั้นอยู่ในความดูแลของ ศธ. ดังนั้น ทปอ.จะต้องมีการหารือและนำข้อสรุปมาเสนอ รมว.ศธ.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป.