ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดผลการประชุมแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ว่าที่ประชุมมีมติคัดเลือกเด็กในระบบเดียวกัน โดยยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง เด็กมีสิทธิ์เลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็มีสิทธิ์เลือกเด็กได้เช่นกัน
สำหรับกระบวนการคัดเลือกกำหนดให้เริ่มจาก 1.รับเด็กในระบบโควตาไม่ใช้การสอบ อาทิ โควตานักกีฬา โอลิมปิกวิชาการ หรือพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน เริ่มดำเนินการช่วงเดือน ต.ค. 2560 จากนั้นมหาวิทยาลัยจะส่งรายชื่อให้ทปอ. เพื่อตัดสิทธิ์ในระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์ ภายในเดือนธ.ค. 2.การคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจัดสอบการสอบความถนัดทั่วไป (แกต) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (แพต) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา และหากคณะ/สาขาใดต้องการสอบวิชาเฉพาะ ก็ให้สอบในช่วงเดียวกัน รวมถึงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่จะจัดสอบเฉพาะกลุ่มแพทย์ด้วย โดยจัดสอบระหว่างต้นเดือนมี.ค.ถึงกลางเดือนเม.ย. และเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 ในต้นเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ทปอ.มรภ. และทปอ.มทร. มีมติจะเข้าร่วมคัดเลือกนักศึกษา จนถึงกระบวนการเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะไปดำเนินการรับตรงเอง ส่วนทปอ.จะดำเนินการเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 2 ในเดือนมิ.ย. และ 3.หากมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ สามารถรับตรงได้เองหลังจากนี้
“เด็กสามารถเลือกสมัครในระบบโควตากี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิ์เลือกเข้าเรียนเพียงแห่งเดียว หากเลือกแล้วไม่มีสิทธิ์สมัครครั้งต่อไป โดยหลังจากนี้จะสรุปมติที่ได้เสนอพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา และประกาศใช้ต่อไปภายในสัปดาห์นี้” นายชัยพฤกษ์กล่าว