คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
ศธ.ประชุมร่วม สกอ.-ทปอ.-มทร.-มรภ. แนวทางคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ปี 61 เผยมทร.-มรภ.ร่วมจนถึงเคลียริ่งเฮ้าส์ ครั้งที่ 1 ก่อนไปรับตรงเอง ส่วนทปอ.เคลียริ่งเฮ้าส์ ครั้งที่ 2 ย้ำคัดเลือกใช้ข้อสอบกลาง การสอบเฉพาะทาง กลุ่มกสพท.ต้องสอบพร้อมกันในช่วงต้นเดือนมี.ค.-กลางเดือน เม.ย.
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปว่า การคัดเลือกนิสิต นักศึกษาจะใช้ระบบเดียวกัน ยึดหลักการสำคัญคือเด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง โดยเด็กสามารถเลือกสมัครในสาขาต่างๆ ที่ต้องการได้ตามสิทธิ ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีสิทธิที่จะคัดเลือกเด็กให้ได้ตามคุณสมบัติ คุณลักษณะที่ต้องการในสาขานั้นๆเช่นกัน
สำหรับกระบวนการคัดเลือก มีดังนี้ 1.ระบบโควตาไม่ใช้การสอบ จะพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน อาทิ โควตานักกีฬา โอลิมปิกวิชาการ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยเริ่มดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2560 เมื่อมหาวิทยาลัยคัดเลือกเด็กได้แล้วต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ.ดำเนินการตัดสิทธิ์ในระบบพรี-เคลียริ่งเฮ้าส์ภายในเดือนธันวาคม 2560 ส่วนระบบโควตาแบบมีการสอบข้อเขียน กำหนดให้ยื่นแฟ้มสะสมผลงานในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งการสมัครในระบบโควตาเด็กสามารถเลือกสมัครกี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิ์เลือกเข้าเรียนเพียงสิทธิ์เดียว หากเลือกแล้วไม่มีสิทธิ์สมัครครั้งต่อไป
2.การคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง ทั้งที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ได้แก่ การทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต) การทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ(แพต) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา รวมถึงการสอบเฉพาะของคณะ/สาขา การสอบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) กำหนดให้ต้องจัดสอบช่วงต้นเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน จึงเข้าสู่กระบวนการคัดเลือดด้วยระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ครั้งที่ 1 ในต้นเดือนพฤษภาคม สำหรับ ทปอ.จะดำเนินการเคลียริ่งเฮ้าส์ครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และ 3.กรณีมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ ก็สามารถรับตรงได้อีกแต่ต้องไม่มีการจัดสอบในเดือน กรกฎาคม
“ในส่วน ทปอ.มรภ.และ ทปอ.มทร. มีมติจะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาตั้งแต่ระบบโควตาถึงการเคลียริ่งเฮ้าส์ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นทั้ง 2 กลุ่มจะไปรับตรงเอง ซึ่งจะมีการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป โดย มรภ.จะเปิดภาคเรียนเดือนสิงหาคม ส่วนมทร.จะเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน” ปลัด ศธ.กล่าวและว่า จะนำข้อสรุปที่ได้เสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาภายในเดือน พฤศจิกายนนี้