สระเก็บน้ำพระราม 9แก้มลิงปทุมธานีมรดกจากสายพระเนตรอันยาวไกล

ในปี 2558 พื้นที่จังหวัดปทุมธานีประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง เมื่อคลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองสายหลัก สำหรับส่งน้ำไปสู่ภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก แม้แต่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาธัญบุรีก็ต้องหยุดจ่ายน้ำ จนกระทั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โปรดเกล้าฯให้นำน้ำใน “สระพระรามเก้า”ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนวันละ 7,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทำให้ปีนั้นชาวปทุมธานีสามารถผ่านภัยแล้งมาได้ด้วยดี
“พิสิษฐ์ พิบูลย์สิริ” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงสระเก็บน้ำพระราม 9 ว่า เป็นโครงการในพระราชดำริที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิ ชัยพัฒนา และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่อำเภอธัญบุรีและอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีพื้นที่สระถึง 2,178 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงถึง 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย 2 สระ คือ สระเล็ก 755 ไร่ และสระใหญ่ 1,423 ไร่
โดยวัตถุประสงค์ของสระพระราม 9 คือ ให้เป็นแก้มลิงของจังหวัดปทุมธานีฝั่งตะวันออก ซึ่งในแก้มลิงแห่งนี้สามารถตัดยอดน้ำเหนือจากแม่น้ำป่าสักที่ส่งมาตามคลองระพีพัฒน์ในช่วงฤดูน้ำหลากบางส่วนมาเก็บพักไว้ในสระ ไม่ให้ไปสมทบกับน้ำในพื้นที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ก่อนที่จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างในจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ขณะที่ช่วงฤดูแล้ง น้ำจากสระเก็บน้ำแห่งนี้ยังสามารถส่งไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในบริเวณคลอง 5 และ 6 ทั้งนาข้าวและพืชสวนที่มีอยู่ประมาณ 20,000 ไร่
นอกจากช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของโซนรังสิตเหนือแล้ว น้ำจากสระแห่งนี้ยังใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค มาก เนื่องจากในพื้นที่มีสถานที่ราชการสำคัญ ๆ อยู่หลายแห่ง ทั้งศูนย์วิจัยพันธุ์น้ำจืด พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ทัณฑสถานหญิง หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ใช้น้ำประปารวมประมาณ 200,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ “รศ.ดร.สุจิรพร สุเวช” ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในหน่วยงานที่จะได้รับอานิสงส์จากสระพระราม 9 มากที่สุด กล่าวว่า เดิมมหาวิทยาลัยมีเพียง 1 คณะจึงเจาะบ่อบาดาลใช้เอง ต่อมามีการขยายตัวทั้งจำนวนคนและคณะเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำเพิ่ม ประจวบกับการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มีสระเก็บน้ำพระราม 9 ทางมหาวิทยาลัยจึงทำหนังสือกราบทูลฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำน้ำจากสระเก็บน้ำพระราม 9 มาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้จนถึงทุกวันนี้
โดยปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้ใช้น้ำจากสระพระราม 9 ทั้งในการอุปโภคบริโภค ทั้งผลิตน้ำดื่ม ทำห้องแล็บ หรือการอุปโภคอื่น ๆ ในทั้ง 10 คณะวิชา และ 1 วิทยาลัย ซึ่งในอนาคตทาง มทร.ธัญบุรี ยังเตรียมเปิดการเรียนการสอนใหม่อีก 2 หลักสูตร เกี่ยวกับการฟอกย้อมและพยาบาลศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นสาขาวิชาที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก แต่เชื่อว่าน้ำจากสระพระราม 9 จะช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอแน่นอน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่โซนรังสิตเหนือ ยังคงมีการขยายตัวของชุมชน และสถานที่ ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ย่อมทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทางกรมชลประทานจึงได้นำเอาสระพระราม 9 มาเป็นต้นแบบในการขยายผล พัฒนาพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก
ล่าสุดได้มีโครงการส่วนต่อขยายของสระพระราม 9 ในบริเวณคลอง 3 จาก บ่อดินของเอกชนที่ได้มอบให้เป็นที่สาธารณะ เพื่อให้รัฐนำมาใช้ประโยชน์ มีพื้นที่ประมาณ 133 ไร่ มาเป็นสระกักเก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำและสามารถจ่ายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณคลอง 3 และคลอง 4 ได้แล้ว
สระเก็บน้ำพระราม 9 ในวันนี้ นอกจากเป็นมรดกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงมอบไว้ให้กับ พสกนิกรของพระองค์ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แล้ว ยังเป็นต้นแบบที่สำคัญในการ แก้ปัญหาเรื่องการใช้น้ำอย่างยั่งยืนสืบ ต่อไป
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
c-161124023130

c-161124023130

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]