งานสัมมนา “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีโครงการในพระราชดำริทั้งสิ้นกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ จึงได้รับการเทิดพระเกียรติเป็นบิดาในหลายด้าน จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์
“สมเจตน์ ทิณพงษ์” ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยเรื่อง “Suvarnabhumi Maritime Silk Road Inspiring to Greater Next” ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำร่องการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ตั้งว่าเหมาะสมปลอดภัยสำหรับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง นอกเหนือจากนี้เป็นผู้พระราชทานนามสนามบินว่า สุวรรณภูมิ (Suvar nabhumi) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เรื่องแผ่นดินสุวรรณภูมิ และพบว่าพื้นที่ตั้งดังกล่าวได้รวมอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานหนักกว่า 70 ปีที่ผ่านมา มีโครงการในพระราชดำริเกิดขึ้นหลายโครงการ พระองค์จึงเป็นที่รักของพสกนิกร ชาวไทยทั่วประเทศและทั่วโลก โดยอยากทิ้งท้ายให้ประชาชนคำนึงถึงว่า “การเทิดพระเกียรติไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าทุกคนทำได้ดีแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่ว่าทุกคนทำต่อไปหรือไม่ เพื่อให้พระราชดำรัสยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป”
“สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยในการบรรยายศาสตร์พระราชา ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ว่า แนวทางเศรษฐกิจ พอเพียง คือ นวัตกรรมหลัก ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มอบให้แก่พสกนิกรชาวไทย คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแนวคิดนี้ แต่มีความเข้าใจระดับต่ำ “คนไทยรู้เขาแต่ไม่รู้เรา” เราศึกษาความรู้และศาสตร์ต่างๆ จากต่างประเทศมากมาย แต่ศึกษาความรู้ในบ้านตนเองน้อย ไม่รู้จุดแข็งและจุดเด่นที่มี ในประเทศ กว่า 70 ปีที่ผ่านมา ในหลวงทรงงานหนักและไม่เปลี่ยนแนวทางการพัฒนา ด้วยพระองค์ทรงรู้และเข้าใจประเทศของพระองค์ ในขณะที่คนไทยบูชาในหลวง แต่ไม่ได้เดินตามแนวทางพระราชดำริ “คนไทยรักที่จะเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่คนไทยไม่มองท่าน คนไทยรักที่จะได้ยินเสียงพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ฟังในสิ่งที่ท่านกำลังบอก” เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแก้ไข มองว่า การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ไม่ใช่การเดินตามสังคมบริโภคนิยม
สุเมธ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันประชากรโลกบริโภคเกินขีดจำกัด ทรัพยากรโลกมีเท่าเดิม แต่คนเพิ่มมากขึ้น จากการคำนวณทรัพยากรโลกที่มีอยู่ เพียงพอต่อประชากรโลก 1,500 ล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรทั่วโลก ประมาณ 7,400 ล้านคน และคาดอีก 4 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน ขณะที่ปี 2573 และ 2593 การบริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และ 28 เท่าตามลำดับ หมายความว่าต้องมีโลก 2-3 ใบ ถึงจะเพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลก ดังนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนของชีวิตและการพัฒนา ลดการบริโภคเกินความจำเป็น เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสั่งสอนแก่ พสกนิกรชาวไทยตลอดเรื่อยมา
“วิรชัย โรยนรินทร์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นักพัฒนากังหันของพ่อ กล่าวว่า โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จุดสำคัญคือการใช้กังหันลม เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยตนได้พัฒนากังหันลมที่เหมาะสมแก่พื้นที่ในประเทศไทย และพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการพัฒนากังหันลม เริ่มแรก ความเร็วลม 5 กิโลวัตต์ พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นกังหันลมขนาด 10 กิโลวัตต์ โดยการสร้างกังหันลมต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งสอดคล้องกับหลักพอเพียง ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาตามงานวิจัยได้ต่อยอดเป็นธุรกิจส่งออกกังหันลมในต่างประเทศ พบว่า ยอดการสั่งซื้อสินค้าในประเทศมากกว่าการใช้งานภายในประเทศ ทั้งนี้มุ่งพัฒนากังหันลมต่อไป ทั้งเสนอแก่หน่วยงานภาครัฐในการปรับใช้กับหน่วยงานต่างๆ
ทั้งนี้ มองว่า นักวิจัยในประเทศควรมุ่งศึกษาสิ่งที่ตนมีความถนัดอย่างจริงจัง และแตกฉาน นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ประเทศ
ปิยนุช ผิวเหลือง
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559