“Wishing You Happiness Always”
ใครบางคนกล่าวคำนี้ต่อเราเมื่อนานมาแล้ว ความหมายแห่งความปรารถนาดี “ขอให้เธอมีความสุขสม่ำเสมอ” เป็นเรื่องราวงดงามที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดมา
เช่นเดียวกัน ทุกคราวที่มีคำตามต่อสารทุกข์สุกดิบและความเป็นไป เราก็จะตอบกลับด้วยถ้อยคำเดียวกันนี้ “Happiness Always”มากไปกว่านั้น เมื่อมีโอกาสเราก็มักจะกล่าวคำอวยพรเฉกเช่นเดียวกันนี้ เพื่อส่งความปรารถนาดี และสานต่อ “มิตรภาพ” ให้แก่ผู้คนรอบข้าง รวมถึง “Keshab Sigdel” มิตรจาก “เนปาล””Keshab” เป็นทั้งนักเขียนและนักวิชาการจาก “เนปาล” ซึ่งเคยมาเยือนเมืองไทยเมื่อราวกลางปี 2558 ในงาน “การประชุมวรรณกรรมและวัฒนธรรม อาเซียนและเอเชีย”
หรือ “ASEAN & Asian Conference on Literature & Culture (AACLC)” ซึ่งจัดขึ้น ณ จ.ภูเก็ต โดยมี “ประภัสสร เสวิกุล” อดีตนายกสมาคมนักเขียนฯ และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ผลักดันและประสานงาน
นับแต่ครั้งนั้นเราก็ได้ “มิตร” เพิ่มขึ้น และเกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมงานที่ “PEACE Procession of Poetry 2015” ณ “ประเทศบังกลาเทศ”จนกระทั่งล่าสุดกิจกรรม “Creative Bridge” เป็นกิจกรรมการแสดงผลงานศิลปะและบทกวีนานาชาติ จัดขึ้น ณ “ประเทศเนปาล”แม้ว่ากิจกรรมนี้จะมีเจ้าภาพหลักคือ “JARA Foundation”ซึ่งมี “Krishna Prasai” เป็นประธานมูลนิธิ และนับเป็น “มิตร”อีกคนที่คอยดูแลพวกเราอย่างดีใน “เนปาล”หากแต่ “Keshab” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ” สมาคมนักเขียนแห่งเนปาล และคุ้นเคยกับพวกเรามาก่อน ก็คอยดูแลพวกเราเป็นอย่างดีเช่นกัน
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมสำคัญในวันแรก คือพิธีเปิดนิทรรศการ “Creative Bridge” ณ “Nepal Art Council” ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมงาน
“เจ้าบ้าน” ก็จัดการพาเราไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ร้านหนังสือ” ซึ่งมีทั้งหนังสือ งานศิลปะ และของที่ระลึก จำหน่าย ตามเสียงเรียกร้องของชาวคณะ
พวกเราเจาะจงไปยังร้านแห่งหนึ่ง เนื่องจาก “เพื่อนของเพื่อน”บอกเล่าถึง “Nisha” ลูกสาวเจ้าของร้าน ซึ่งคอยดูแลการมาเยือนในครั้งก่อนหน้าเป็นอย่างดี
ครั้งนี้เราจึงถือโอกาสมาเยี่ยมเยียนและอุดหนุน “ผลงาน”ภายในร้าน ซึ่งเพิ่งได้รับการฟื้นฟู หลังความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุ “แผ่นดินไหว” ครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้”Dheeraj Nath Amatya” คุณพ่อของ “Nisha” ซึ่งเป็นทั้ง “นักเขียน” มากความสามารถ และเป็นเจ้าของร้าน รอต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้ม
ป้ายหน้าร้านที่ทำเอาทุกคนยิ้มกว้าง บ่งบอกถ้อยคำอันมีความหมายว่า ยินดีต้อนรับ “เพื่อนของเพื่อน” ที่มาจากเมืองไทย พวกเราชวนกันเดินชมเรื่องราวภายในร้าน ซึ่งมีสินค้าหลากหลาย รวมถึง “ภาพวาด” ที่เป็นมุมต่างๆ ของ “เทือกเขาหิมาลัย”ส่วนที่โดดเด่นที่สุดภายในร้านเห็นจะเป็นหนังสือ “The Cave of Mitraban : A Fable of Nepal” ผลงานของ “Dheeraj Nath Amatya” คุณพ่อของ “Nisha”ปัจจุบันแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 24 ภาษา และตีพิมพ์เผยแพร่แล้วถึง 18 ภาษา นั่นหมายรวมถึงอยู่ระหว่างแปลเป็น “ภาษาไทย” ด้วยเช่นกันแม้จะใช้เวลาที่ “ร้านหนังสือ” แห่งนี้ ไม่นานนัก หากแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่มีอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถบ่งบอกถึงบรรยากาศแห่ง “มิตรภาพ” ได้เป็นอย่างดีจากนั้น “Keshab” ก็ถือโอกาสเลี้ยงต้อนรับพวกเราที่ร้านอาหารย่าน “ทาเมล” (Thamel) ซึ่งใกล้กับที่พักของพวกเรานั่นเองอาหารจานเด็ดที่ต้องบอกว่าพลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนที่นี่คือ “โมโม่” (Mono) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนแถบนี้ และน่าจะเป็นลูกผสมผสมระหว่าง “เกี๊ยว” และ “ขนมจีบ””เจ้าบ้าน” เชิญชวนให้ทุกคนลองชิม พวกเราแต่ละคนไม่มีใครเกี่ยง เพราะรู้สึกหิวกันถ้วนหน้า และเพียงแค่ได้ชิมเท่านั้น ทุกคนก็ออกปากชมไม่ขาด
แป้งนิ่มๆ กับรสชาติไส้ที่กลมกล่อม ใกล้เคียงกับไส้ “ซาลาเปา”ที่เคยกินในเมืองไทย ทำให้มื้อเย็นของพวกเราพากันเจริญอาหารด้วย “โมโม่” ไปตามๆ กัน”Keshab” ยิ้มกว้างอย่างยินดีที่พวกเราพากันชอบรสชาติของอาหารและบรรยากาศของร้าน พร้อมขอโทษขอโพย เนื่องภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัว ทำให้อาจไม่มีเวลาอยู่ดูแลชาวคณะได้ตลอดงาน
เราต่างกล่าวขอบคุณกันและกัน และแจ้งให้ “มิตร” ของเราสบายใจ เพราะเพียงเท่านี้ พวกเราก็ได้รับความสะดวกสบาย และรับรู้ถึงความตั้งใจอันดีงามที่ถ่ายทอดมาอย่างเต็มเปี่ยม
หลังแยกย้ายกันในคืนค่ำแห่งความทรงจำงดงาม พวกเราก็หลับใหลอยู่กลาง “กรุงกาฐมาณฑุ” ท่ามกลาง “หุบเขาหิมาลัย” เพื่อเก็บแรงไว้สำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งต่อไป
วันต่อมาเป็นกิจกรรม “Workshop” ซึ่งเปิดโอกาสให้ “ศิลปิน”ตัวแทนของแต่ละประเทศ ได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ให้เยาวชนรุ่นใหม่ของ “เนปาล” ได้เรียนรู้ตัวแทน “ศิลปินไทย” ทั้ง 2 คนคือ “สาโรจน์ อนันตอวยพร”จาก “ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” และ “ตนุพล เอนอ่อน” จาก “ม.มหาสารคาม” พากันตระเตรียมอุปกรณ์อย่างตั้งใจขณะที่ “เจน สงสมพันธุ์” ในฐานะผู้นำคณะ และ “นายทิวา”หรือ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” แห่งคอลัมน์ “ใต้ถุนสภา” ของ “นสพ.บ้านเมือง” ตัวแทน “กวี” จากประเทศไทยรวมถึง “ชื่นกมล ศรีสมโภชน์” และ “จุฬารัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้ประสานงานและผู้แทน “JARA Foundation”ประจำประเทศไทย ก็ต่างคอยเป็นลูกมือ “ศิลปิน” ทั้ง 2 คน อย่างแข็งขัน
ภาพบรรยากาศที่ “เยาวชน” ชาวเนปาล พากันมามุงดูผลงานของ “ศิลปินไทย” รวมถึงซักถามถึงความเป็นมาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ทำให้พวกเรารู้สึกทึ่งอย่างมาก
น่าเชื่อว่า “เยาวชน” เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ที่จะสร้างผลงานชิ้นสำคัญ รวมถึงขับเคลื่อนแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของ “เนปาล” ให้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้เลยทีเดียว
ขณะที่พวกเราเอง ก็ได้สัมผัสกับเรื่องราว และความปรารถนาดีท่ามกลางมวลมิตร ที่นับวันก็เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น และหวังใจว่าจะกระชับมั่นเช่นนี้ตลอดไป
ดอกไม้แห่งมิตรภาพเบ่งบานในหัวใจอีกครั้ง ในดินแดนแห่งอ้อมกอดหิมาลัย…
roythao@yahoo.com
บ้านเมือง ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559