จากงานสัมมนา “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
“ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) เล่าให้ฟังถึงการพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำว่า เป็นการสร้างนวัตกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาให้เหมาะสมกับการ ใช้งานในประเทศไทย
เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ไทยจะมีโครงการพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องนำเข้ากังหันลมจากต่างประเทศที่ออกแบบสำหรับใช้กับลมในเมืองหนาว ซึ่งความหนาแน่น และความเร็วลมสูง ขณะที่ลม ในประเทศไทยเป็นลมเมืองร้อน เบา และความเร็วลมต่ำ
ผศ.ดร.วิรชัย บอกว่า จากที่ได้ไปเรียนด้านกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าโดยตรงมาจากต่าง ประเทศ พบว่ากังหันลมที่ออกแบบมาแบบความเร็วลมสูงนี้ หากนำมาใช้กับประเทศไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสิทธิภาพจะต่ำมาก กังหันจะทำงานเฉพาะช่วงลม แรงๆ เมื่อลมต่ำ กังหันลมที่มีขนาดใหญ่จะต้องใช้มอเตอร์ในการสตาร์ตใบให้หมุนก่อน จึงเกิดการกินไฟอยู่ตลอดเวลา และกลายเป็นปัญหาของการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมของประเทศไทยมายาวนานเพราะความไม่รู้
แต่พระองค์ท่านทรงรู้ …. เพราะพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ทรงเป็นทั้งวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักคิดค้นและปรัชญาที่ท่านคิดทุกอย่างต้องพอเพียง และเหมาะสม
” เมื่อผมจบมา ก็หวังว่าจะผลิตกังหันลมให้กับประเทศให้ได้ แต่ประเทศไทยนิยมการเป็นผู้บริโภคมากกว่า ทีมวิจัยจึงไม่สามารถต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ได้เพราะไม่มีตลาดรองรับ จึงมีการทำวิจัยต่อเนื่อง จนมีโอกาสคิดค้นกังหันลมที่เหมาะสำหรับใช้ในเมืองไทย”
และเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา …สำนักพระราชวังได้มีหนังสือมาถึง มทร. เพื่อให้ ผศ.ดร.วิรชัย และทีมงานวิศวกร เข้าไปสำรวจพื้นที่ไร่ชั่งหัวมัน ที่จังหวัดเพชรบุรี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งไฟฟ้าในจุดนั้น ยังไม่มี ลมก็เบา
ผศ.ดร.วิรชัย บอกว่า เหมือนพระองค์ท่านทรงรู้ว่าต้องใช้กังหันแบบใด ซึ่งด้วยงบประมาณที่พระองค์ทรงพระราชทานให้มา จะนำเข้ากังหันขนาดใหญ่มาจากต่างประเทศก็ได้ แต่ก็ไม่ทรงโปรด กลับทรงให้โอกาสกับนักวิจัยไทย ได้มีเวทีในการลงมือทำจริงและผลิตไฟฟ้าให้กับโครงการ
เบื้องต้นทำ 10 ตัวในชุดแรก ปกติกังหันลมตัวละประมาณ 1.2 ล้าน แต่ด้วยการสนับ สนุนจากหลายฝ่าย ทำให้สามารถผลิตได้ในงบ 7 ล้านบาท ใช้ เวลาผลิตหนึ่งปี ใช้ ชิ้นส่วนในประเทศไทย 80 % ยกเว้นเจนเนอเรเตอร์ที่ยังต้องนำเข้า หลัง จากนั้นก็ทดลองจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และก็ใช้ในโครงการฯ ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ดี ซึ่งได้มีการถวายรายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งตอนนั้นพระองค์ทรงประชวร อยู่ที่ศิริราช จึงทำเป็นวิดีโอถวายรายงาน ให้พระองค์ทอดพระเนตร ซึ่งพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย ต่อมากองทัพบกสนับสนุนโครงการ ติดตั้งกังหันลมเพิ่มอีก 10 ต้น
.ปัจจุบันกังหันลมทั้ง 20 ต้นใน โครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือเป็น ฟาร์มกังหันลมขนาดเล็ก ที่มีขนาดตัวละ 5 กิโลวัตต์ ฟาร์มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นระบบไฮบริด โดยนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ด้วย จนกลายเป็นที่แรกที่เป็นโครงการ ไฮบริดวินโซลาร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ..
และเป็นที่มาของการพัฒนาต่อยอดในปัจจุบัน ที่ทีมวิจัยสามารถผลิตจำหน่ายและส่งออกไปยังต่างประเทศได้
ผู้วิจัย บอกว่า โครงการที่พระองค์ท่านพระราชทานโอกาส ไม่ได้เป็นกังหันลมเพื่อเชิงพาณิชย์ แต่เป็นโครงการที่ทำเพื่อให้ขวัญและกำลังใจกับทีมวิจัยคนไทย ที่ได้ร่ำเรียนมาได้ มีเวทีไปทำให้เกิดประโยชน์และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่าhttps://www.pr.rmutt.ac.th/wp-admin/tools.phpคิดต่อ.. ก็คือ พระองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แม้ไม่ได้เป็นเชิงพาณิชย์ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะนำไปต่อยอดเองว่าจะทำอย่างไร รวมถึงให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนไทย ไม่ใช่นำเข้าแต่ของต่างประเทศเพียงอย่างเดียว.
นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com