ทีม PooGun คว้ารางวัลชนะเลิศ 2 แสนบาทออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ในรพ.เครือพญาไท-เปาโล

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆที่ทางเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลจัดขึ้น สำหรับกิจกรรมประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ในโรงพยาบาลในโครงการ “Hospital Upcyclin Challenge” Presented by Phyathai & Paolo Hospital ด้วยเสียงตอบรับจากคณาจารย์และนักศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ จนทำให้มีทีมที่เข้าร่วมประกวดในโครงการถึง 113 ทีม และคัดเหลือ 10 ทีม เพื่อหาทีมที่ชนะในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ห้อง We Serve โรงพยาบาลพญาไท 2 สนามเป้า
เนื่องด้วยปัจจุบันปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกทั้งใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของปัญหาด้านสุขภาวะ ที่เป็นแหล่งพาหะและแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆมาสู่ประชาชน จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาเป็นวงกว้าง
ในฐานะโรงพยาบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ซึ่งได้เล็งเห็นและตระหนักถึงวิกฤตการณ์ปัญหาดังกล่าว จึงมีความมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณขยะที่เดิดขึ้นในโรงพยาบาลอย่างจริงจัง โดยได้เริ่มเสนอแนวคิดให้มีการนำเอาวัสดุเหลือใช้ในโรงพยาบาลประเภท Non-Clinical Waste อาทิ กระดาษห่อเสื้อกาวน์, ฝาจุกอุปกรณ์ทางการแพทย์, กล่องใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์, ปลอกเข็มให้สารน้ำทางหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัสดุเหลือใช้ที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนจากสารคัดหลั่ง มารังสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ อันเป็นแนวทางที่มากกว่าแค่การลดปริมาณขยะ แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย
ด้วยปณิธานที่อยากปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทางเครือโรงพญาไท-เปาโล เปิดโอกาสให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษษจากสถาบันชั้นนำทั่วประเทศ ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในแบบคนรุ่นใหม่ ออกแบบและประดิษฐ์ของเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปต่อยอดใช้เชิงพาณิชย์ได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักอีกข้อหนึ่งคือ มอบลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ที่ชนะเลิศการประกวดให้กับมูลนิธิ ONE LOVE นำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสต่อไป
งานเปิดตัวโครงการเปิดบ้านรับนักศึกษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม โดยมีนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานกว่า 300 คน ซึ่งทุกคนล้วนได้เข้ามาเรียนรู้ถึงความสำคัญของการลดปัญหาปริมาณขยะ และได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการนำเอาความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม ซึ่งโดยที่สุดแล้วมีนักศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการทั้งสิ้นจำนวน 113 ทีมจาก 10 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี, และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น
การคัดเลือกผลงานรอบรองชนะเลิศ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นจำนวนทั้งสิ้น 10 ชิ้น ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ได้แก่ชื่อผลงาน ฌ.กุชร, Bone bag, ลูกกลิ้งนวดเท้ากับสายพานนวดตัว, PooGun, ป. (Porpla), Gomphrena, storage key, HWA Carry, My little Theater และ baby Seat on the Coral โดยจัดให้มีงานประกาศรางวัลในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พิธีเปิดงานมี วิชัย ทองแตงประธานกรรมการบริหาร เครือรพ.พญาไท-เปาโลเป็นผู้เปิดงานการคัดเลือกงานรอบชิงชนะเลิศ ในโครงการ “Hospital Upcycling Challenge” Presented by Phyathai & Paolo Hospital ก่อนที่นักศึกษาทั้ง 10 ทีมที่มีผลงานเข้าชิงชนะเลิศได้มาแสดงผลงาน พร้อมทั้งนำเสนอความคิดและแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ และตอบข้อซักถามต่อหน้าคณะกรรมการอย่าง วิชัย ทองแตง ประธานกรรมการบริหาร เครือรพ.พญาไท-เปาโล, ศศิธร มูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสายจัดซื้อ เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล, วัชราภรณ์ เจริญธรรมวัชณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อประชาสัมพันธ์เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล, สภาพร บัญชาจารุรัตน์ ผอ.สายทรัพยากรบุคคล เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล, ศุภชัย หล่อโลหการ อดีต ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap lap) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร นายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หม่อมหลวง ปรเมศวรวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการ Kiddee Design, อาจารย์จักรสิน น้อยไร่ภูมิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา, คมกฤช ตระกูลทิวากร ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ๑4๑ (One for another one), ปรียวิศว์ นิลจุลกะ ศิลปินนักออกแบบอารมณ์ดีเจ้าของแบรนด์ TAM:DA ตามลำดับโดยใช้เวลากลุ่มละไม่เกิน 7 นาที
บรรยากาศภายในงานเต้มไปด้วยความสนุกสนานกับผลงานที่นักศึกษาแต่ละกลุ่มได้สร้างสรรค์และนำเสนอผ่านภาพประกอบ ซึ่งมีการสาธิตผลงานการนำวัสดุเหลือใช้ในโรงพยาบาลมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ได้จริงอย่างน่าเหลือเชื่อ นอกจากนั้นทางเครือโรงพญาบาลไท-เปาโลยังมอบความรู้และรอยยิ้ม ในการเวิร์กช็อป กิจกรรม DIY จาก “เป๋” ธนวัต มณีนาวา ศิลปินนักออกแบบอารมณ์ดี เจ้าของแบรนด์ TAM:DA ให้แก่นักศึกษาเพื่อนำเอาไปต่อยอดผลงานในอนาคตอีกด้วย
การตัดสินและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ โดยผู้ชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาท แบ่งเป็นทีมนักศึกษาผู้ออกแบบได้รับ 100,000 บาท และภาควิชาที่นักศึกษาสังกัดอยู่ 100,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล จำนวน 20,000 บาทต่อ 1 รางวัล พร้อมถ้วยรางวัลเกียรติยศและรางวัลป็อปปูลาร์โหวดอีก 1 รางวัล
ผลงานที่ได้รับคะแนนจากคณะกรรมการมากที่สุด คว้ารางวัลชนะเลิศได้แก่ PooGun ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ภัทรพร ธนนนท์ไพศิษฐ์ และ ศุภพิชญ์ ภูสุภา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์, รางวัลชมเชยได้แก่ Gomphrena ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เฉลิมพงศ์ อ่อนยอง มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์, รางวัลชมเชย ได้แก่ ป. (Porpla) ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เบญจพร ครุฑกุล, ศรารัตน์ ศรีตา และ อัฐวุฒิ อุดชาชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, รางวัลป็อปปูลาร์โหวต ได้แก่ Gomphrena ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เฉลิมพงศ์ อ่อนยอง มหาวิทยาลัยศิลปากร คระมัณฑนศิลป์
ด้าน ศศิธร มูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสายจัดซื้อ เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการ “Hospital Upcycling Challenge” Presented by Phyathai & Paolo Hospital ว่า “สำหรับในเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เราอยู่ในกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยดังนั้นเวลาให้การรักษาพยาบาลมันก็จะมีวัสดุที่เหลือใช้ในทุกๆเดือนจะเหลือเยอะมากเลย เราก็เลยคิดว่าแทนเราจะทิ้งขยะพวกนี้ไปเฉยๆเราเลยนำวัสดุเหล่านั้นมาให้นักศึกษาต่อยอดกับของที่เราจะนำไปทิ้งให้เกิดประโยชน์ เริ่มตั้งแต่แรกเลยที่เราเริ่มส่งหนังสือไปเชิญแต่ละมหาวิทยาลัยว่าที่ไหนสนใจบ้าง ก็ได้รับการตอบรับ ในวันที่นักศึกษาเขามาดูว่ามันมีผลิตอะไรบ้างที่เขาสามารถนำไปต่อยอดสร้างโปรดักต์ใหม่ได้ น้องๆน่ารักมากๆเลย เด็กๆเขามีแววตามุ่งมั่น อยากจะครีเอทีฟอยู่เรื่อยๆทุกคนก็สนุกกับมัน ถามว่ายากไหมกับการตัดสินผลงานของนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขัน ยากมากเลยค่ะ เพราะว่าดูแล้วจะมี 2 แนวทางหลักๆบางคนจะออกไปในทางวัสดุศาสตร์ นำวัสดุมาแปรรูปแล้วสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วก็มีอีกแนวนึงที่สามารถตอบโจทย์สังคม เพื่อเด็ก หรือใช้วัสดุที่เราเหลือใช้มาสร้างเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย คณะกรรมการชอบหลายอย่าง เลยต้องมาประชุมอีกทีนึง โดยส่วนตัวแล้วเคยได้เข้าไปลงพื้นที่พูดคุยกับน้องๆไหม ไปครั้งเดียวค่ะ ในตอนที่เป็นเปิดบ้านรับน้องๆน้องๆน่ารักมากๆมีการพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ส่วนกระบวนการออกแบบจะเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะกำกับดูแลมากกว่า ถามต่อว่าโครงการดีๆแบบนี้จะมีจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ไหม แน่นอนค่ะ ปีแรกได้รับการตอบรับจาก 10 สถาบัน เราดีใจมากเลย ปีถัดๆอาจจะต้องมีการประชุมว่าจะให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมด้วยไหม หรือต้องโฟกัสกับสถาบันการศึกษาก่อนค่ะ”
สยามกีฬา ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]