สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559
อีกเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ปฏิทินของปี พ.ศ.2559 ก็จะถูกปลดทิ้ง พร้อมกับที่ปฏิทินของ พ.ศ.2560 จะถูกนำมาใช้ทดแทน บรรยากาศในช่วงเดือนสุดท้ายของปีอย่างเดือนธันวาคมปีนี้ ถือว่าเป็นเดือนที่มีวันหยุดอยู่มากพอสมควรทีเดียว ล่วงมาถึงตอนนี้ ผู้อ่าน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” หลายต่อหลายคน คงเตรียมตัววางแผนที่จะออกเดินทางเพื่อไปพักผ่อนท่องเที่ยวไว้พร้อมแล้ว ขณะที่อีกหลายคน แม้มิได้วางแผนเดินทางไกล หากแต่ยังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงกรุงเทพฯ ก็น่าจะได้วางแผนใช้เวลาผ่อนคลายชีวิตตนเอง หลังจากที่เคร่งเครียดกับหน้าที่การงานมาอย่างต่อเนื่องหนักหน่วงตลอดปี
สำหรับกับละแวกวงศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ นั้น ก็เริ่มส่งสัญญาณของการ “ล่ำลาปีเก่า” เพื่อเตรียมตัว “ต้อนรับปีใหม่” กันแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนธันวาคม ไม่จำเพาะว่าเป็นปีนี้ หากแต่ปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ก็ดูจะมีสภาพบรรยากาศที่เหมือนคล้ายไม่มแตกต่างกันสักเท่าไร นั่นคือ….เป็นช่วงเดือนที่บรรดา “ศิลปะสถาน” โดยส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด มักจะพากันงดเว้นการจัดนิทรรศการเพื่อเสนอแสดงผลงานรายการใหม่ๆ หากแต่จะรอจนถึงเดือนแรกของปีถัดไปโน่น จึงจะเริ่มดำเนินการจัดนิทรรศการรายการใหม่ขึ้นอีกครั้ง
ส่วนนิทรรศการทางศิลปะที่เราท่านจะได้ร่วมชื่นชมในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 นี้ ส่วนมากก็เป็นนิทรรศการที่ได้รับการจัดเปิดและแสดงมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งบางรายการ ก็สิ้นสุดยุติลงในช่วงก่อนหรือหลังจากที่ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ฉบับนี้ออกวางแผน แต่บางรายการยังคงจัดต่อเนื่องถึงสิ้นเดือน หรือคาบเกี่ยวไปจนถึงต้นเดือนมกราคมของปี พ.ศ.2560 อีกทั้ง “ศิลปะสถาน” บางแห่ง ก็ถือโอกาสในช่วงวันหยุดท้ายปี จึงงดเว้นการจัดกิจกรรมโดยปริยายบางแห่ง…แม้จะยังเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจเสพชมงานศิลปะ แต่ผลงานที่ปรากฏจัดแสดง อาจเป็นการนำผลงานเก่าของคนทำงานศิลปะหลายๆ คนที่เคยจัดแสดง มาติดตั้งแสดงผลงานเก่าของคนทำงานศิลปะหลายๆ คนที่เคยจัดแสดง มาติดตั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการ “คั่นรายการ” ก่อนจะมีนิทรรศการแสดงผลงานชุดใหม่ชิ้นใหม่ตามปกติ…ในช่วงปีหน้าโน้น
สำหรับนิทรรศการศิลปะที่ผมนำมาเขียนวิจารณ์บอกเล่าพร้อมกันถึง 2 รายการใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ฉบับนี้ ต่างก็เป็นนิทรรศการที่จัดให้มีขึ้นตั้งแต่เดือนที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งรายการหนึ่งนั้น เริ่มต้นจัดแสดงมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน และจะไปสิ้นสุดเอาในช่วงปลายธันวาคม 2559 ขณะที่อีกรายการเพิ่งจัดขึ้นตอนกลางเดือนธันวาคม แล้วแสดงคาบต่อจนถึงต้นเดือนมกราคม 2560
นิทรรศการรายการแรกนี้ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษตามกระแสนิยม “โกอินเตอร์” แบบคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ซึ่งชอบเหลือเกินกับการตั้งชื่อนิทรรศการ ตลอดจนชื่อผลงานเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่สนใจที่จะใส่วางภาษาไทยกำกับควบคู่ไว้เลย ซึ่งผมก็ให้สงสัยเรื่อยมา ว่าตัวเจ้าของผลงาน รวมถึงเจ้าของพื้่นที่จัดแสดง คิดอย่างไรจึงทำเช่นนั้น เหตุใดจึงไม่จัดให้มีส่วนที่เป็นภาษาไทยบอกกำกับร่วมกัน มันจะยากลำบากอะไรนักหนา ในเมื่อสถานจัดแสดงก็คือกรุงเทพฯ เมืองไทยคนดูส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย ที่พูด-อ่าน-เขียน ด้วยภาษาไทยเป็นหลัก
ไอ้เรื่องที่อยากเอาใจคนดูชาวต่างชาติ หรือเตรียมตัวสำหรับ “โกอินเตอร์” นั้น ผมเข้าใจได้ และรู้ว่าจำเป็นสำหรับทั้งตัวคนทำงานศิลปะผู้สร้างผลงาน และเจ้าของพื้นที่จัดแสดงโดยเฉพาะที่เป็น “ศิลปะสถาน” ภายใต้ทุนส่วนตัว แต่ถ้าจะมีป้ายแสดงชื่อนิทรรศการ ชื่อ-สกุล คนทำงานศิลปะ ชื่อผลงานแต่ละชิ้น รวมถึงข้อมูลความคิดในการสร้างงานแต่ละชุด เป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นใดก็ตามนั้น มันจะทำไม่ได้เลยเชียวหรือ มันต้องใช้ต้นทุนอะไรมากมายที่เกินกว่าสติปัญญาความสามารถของทุกฝ่ายจะพึงกระทำได้หรืออย่างไร
ฉะนั้น….เมื่อนิทรรศการโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักเน้นใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับคนดูชาวไทย ที่อาจจะมีไม่มาก แต่ผมก็เชื่อว่าคงมีอยู่ไม่น้อย โดยไม่สนใจจัดทำส่วนที่เป็นภาษาไทยวางกำกับควบคู่กันไปด้วยนั้น จะมากะน้อย…ผมว่าน่าจะส่งผลให้การเข้าถึง เพื่อร่วมรับรู้ในตัวเนื้อหา หรือประเด็นความคิดที่ตัวผู้สร้างงานพยายามส่งผ่านและถ่ายทอดเป็นเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้รูปทรงรูปแบบผลงานศิลปะอันหลากหลาย ย่อมเป็นไปได้อย่างค่อนข้างยากลำบาก และเมื่อการชมงานศิลปะสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง มีอุปสรรคในแง่การสื่อสารหรือการทำความเข้าใจในระยะยาว…อาจมีผลที่ทำให้คนเหล่านี้ หันหลังให้กับการดูงานศิลปะ ไม่สนใจใส่ใจที่จะเดินทางไปชมงานศิลปะอีกหรือไม่
จากสภาพที่มีประชาชนให้ความสนใจ เจียดแบ่งเวลาไปแวะชมงานศิลปะ ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างน้อยนิดอยู่แล้ว จะยิ่งมีปริมาณจำนวนที่ลดน้อยลงไปกว่าที่เป็นในปัจจุบันหรือไม่โดยส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการไม่ให้ความสนใจใส่ใจ ที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ชม ดังเช่นการละเลยไม่จัดทำรายละเอียดที่เป็นภาษาไทย บอกกำกับเคียงคู่ร่วมกับการแสดงผลงานแต่ละครั้งแต่ละชุดความคิด เมื่อคนดูพบว่าเขาไม่สามารถเข้าถึง เพื่อทำความเข้าใจในผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ แล้ว เขายังจะให้ความสนใจติดตามดูงานศิลปะอยู่อย่างต่อเนื่องสืบไปอีกหรือไม่
เพราะลำพังโดยเนื้อหาความคิดในงานศิลปะแต่ละชิ้นแต่ละชุดของคนทำงานศิลปะหลายๆ คน ก็มีลักษณะที่เป็นเสมือน “โลกส่วนตัว” หรือมีประเด็นความคิดที่เพียงเฉพาะตัวผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น ที่เข้าใจในรายละเอียด ที่มาที่ไป แหล่งก่อเกิดแรงบันดาลใจ หรือนัยความหมายที่ได้รับการสอดซ่อนแฝงเร้นไว้ภายใต้รูปทรงวัสดุ หรือกระบวนการทางเทคนิคของงานศิลปะแต่ละชิ้น ซึ่งก็เป็น “เรื่องยาก” พอสมควรอยู่แล้ว สำหรับการพยายาม “อ่าน” หรือ “ตีความ” ความหมายความคิดในงานศิลปะแต่ละชิ้นให้เข้าใจปรุโปร่ง
ว่ากันถึงผลงานในนิทรรศการ “INCOMENSURABLE” ที่แปลแบบตรงๆ ก็ได้หมายความประมาณว่า “สิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้” ซึ่งเป็นผลงานของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ประติมากรรมหนุ่มวัยปลาย 40 ปี อดีตนักศึกษาศิลปะจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้เคยสวมหมวก…ทำหน้าที่เป็น “อาจารย์สอนศิลปะ” อยู่หลายปี ก่อนจะตัดสินใจละทิ้งชีวิตข้าราชการกินเงินเดือนประจำเพื่อลาออกมาดำรงชีวิตเป็น “คนทำงานศิลปะอิสระ” ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประติมากรรมของธวัชชัยที่นำมาจัดแสดงในคราวนี้ ยังคงเป็นดอกผลที่พัฒนา คลี่คลายมาอย่างต่อเนื่อง จากผลงานหลายชุดก่อนหน้านี้ ซึ่งหลอมรวมเอาประสบการณ์ชีวิต และเรื่องราวหลากหลายรอบตัวที่เขาสนใจศึกษา แล้วจึงกลั่นย่อยผสมรวมเอาประสบการณ์ จินตนาการ และดอกผลความคิดเหล่านั้น มาสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรมที่ให้ความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคง อันเนื่องมาจากสภาพของชิ้นงานประติมากรรมที่ได้รับการประดิษฐ์ประกอบสร้างให้มีรูปทรงและการติดตั้งจัดวางอวดแสดง ในสภาพหมิ่นเหม่ โย้เย้ ราวกับว่ากำลังโยกเยกเอนเอียง จวนจะโค่นหรือล้มได้ตลอดเวลา
ขณะที่ผลงานประติมากรรมอีกบางส่วนให้ความรู้สึกหลอกตาเล่นล้อกับการมองเห็นของตัวผู้ชมกล่าวคือ….ขณะยืนมองจากมุมหนึ่งงานชิ้นนั้นให้ความรู้สึกถึงความเป็นงาน 3 มิติ มีปริมาตรความลึกความตื้นความหนาความสูงอย่างสมจริง แต่พอผู้ชมขยับย้ายมุมมอง กลับพบว่างานประติมากรรมชิ้นเดียวกันนั้น กลับกลายเป็นคล้ายภาพวาดภาพร่างแบนๆ แบบ 2 มิติ เหมือนภาพที่ขีดวาดอยู่บนแผ่นกระดาษความลึกความหนาที่เห็นและรู้สึกได้เมื่อครู พลันเลือนหายไป รูปทรงก็บิดเบี้ยวโย้เย้…ไม่ปกติ
นอกจากนี้ ผลงานประติมากรรมบางชิ้น ไม่เพียงแต่จะให้ความรู้สึกถึงการตั้งวางอย่างไม่มั่นคงแล้ว ยังมีแง่มุมของรูปทรงที่ให้ความรู้สึกว่ามีหลายมิติ ก่ายซ้อนรวมกันอยู่ในงานชิ้นเดียว บ้างก็เป็นเหมือนการหยิบนำเอารูปทรงหลายสิ่งมาผสมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างให้เกิดรูปทรงใหม่สำหรับรองรับความคิดที่เขาต้องการสื่อแสดงให้ผู้ชมได้สัมผัสรับรู้ ดังเช่นผลงานประติมากรรมโลหะรูปทรงวงรีนั้น ด้านหนึ่ง…ก็มีที่มาจากรูปทรงของดวงดาว แต่เมื่อกลายเป็นงานประติมากรรม นั่นก็มิใช่ดวงดาวอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งใหม่ที่มีความหมาย มีเนื้อหาเรื่องราวเฉพาะตัวที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากจุดเริ่มต้นเดิมของมัน ซึ่งธวัชชัยได้เขียนบอกเล่าความคิด หรือแหล่งให้แรงบันดาลใจต่อการสร้างผลงานของเขาไว้ไม่สั้นไม่ยาว ความว่า….
“ผลงานชุดนี้ เกิดมาจากการคิดต่อเนื่องจากผลงานเมื่อหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงผลงานเมื่อต้นปีนี้ ที่ข้าพเจ้าได้รับทุนศิลป์ พีระศรี ในหัวข้อ รูปจริงจากภาพฉาย (SCULPTURE FROM ORTHOGRAPHIC PROJECTION) ที่เกิดจากการสร้างจินตนาการของรูปทรง ที่เกิดจากภาพฉายหรือเงา เวลาที่ผ่านมาส่วนมาก ใช้ไปกับการทำความเข้าใจ ค้นคว้า และตื่นเต้นไปกับการหาความรู้ใหม่ๆ ทางเรขาคณิตและคณิตศาสตร์ ซึ่งความรู้เหล่านี้ มีมาในอดีตอย่างสมบูรณ์แล้วเพื่อหาความแม่นยำ ความถูกต้องในการสร้างรูปทรง
“จากเดือนเป็นปี ที่ใช้เวลาอยู่บนโต๊ะทำงานของตัวเอง สายตามิได้เคยมองสิ่งอื่นที่ห่างไกลออกไป เปรียบดั่งช่างจิตรกรรมที่วาดเขียนในสิ่งที่ตัวเองเห็น ช่างก่อสร้างที่คิดเพียงตัดไม้ให้ได้รูป ความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมาในระหว่างทาง วันนี้คิดอย่าง พรุ่งนี้คิดอีกอย่าง ไม่เคยหยุดหนิ่ง เสียเวลา และเหนื่อยเปล่ากับการไล่จับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงให้อยู่นิ่ง
“มิได้ปฏิเสธนิยามว่าศิลปะรับใช้อารมณ์ ผลงานชุดนี้ อาจเป็นบทเริ่มต้นของสิ่งใหม่ในงานข้าพเจ้าในอนาคต มีสิ่งใดที่ผลงานสร้างให้เกิดความรู้สึกกับผู้ชม เชิญคิดได้ตามสบาย”
ส่วนนิทรรศการอีกรายการ มีชุดความคิดว่าด้วยเรื่อง “ดาวพล เมืองดี” (STARS FOR GOOD CITIZENS) ที่ผลักดันสร้างสรรค์ ขึ้นโดย ไกรสร ประเสริฐ อดีตนักเรียนศิลปะระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง ซึ่งปัจจุบัน…ดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้ช่วยศาสตร์จารย์” ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ย่านรังสิต
ผลงานความคิดชุด “ดาวพลเมืองดี” ที่กำลังจัดแสดงในขณะนี้เป็นผลพวงที่ต่อยอด แตกตัวต่อเนื่องมาจากนิทรรศการศิลปะเพื่อ “เชิดชูพลเมืองดี” ที่ไกรสรได้ทำต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้…เป้าหมายในผลงานศิลปะ ตั้งแต่ชุดสมัยอดีต ล่วงเลยจนถึปัจจุบัน ล้วนมีเป้าหมายที่ต้องการสื่อแสดงความคิด เพื่อเชิดชู ให้การยกย่องสรรเสริญ บรรดา “พลเมืองดี” หรือประชาชนที่สร้างสรรค์ทำความดีเป็นปีปรากฏรับรู้ของสังคมสาธารณะ ซึ่งในแง่รายละเอียดของผลงานจากชุดความคิดว่าด้วยการ “เชิดชูพลเมืองดี” กระทั่งมาจนถึงผลงานชุด “ดาวพลเมืองดี” ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นก้าวย่างการพัฒนา คลี่คลายเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการทางความคิดในด้านการสร้างสรรค์ศิลปะของไกรสร เพื่อสรรหารูปแบบกลวิธี เข้ามาใช้รองรับความคิด ตลอดจนเจตจำนงของเขา เพื่อสร้างให้เกิดเป็นภาพปรากฏ ที่สามารถสื่อสารบอกเล่าให้สังคมหรือผู้เข้าชม ได้รับทราบ และเข้าใจในกระบวนการทางความคิด รวมถึงเป้าหมายในการนำเสนองานศิลปะผ่านทางนิทรรศกาลแต่ละครั้งที่ได้รับการจัดให้มีขึ้น
ซึ่งเป้าหมายหนึ่งที่เชื่อว่าผู้ชมโดยส่วนใหญ่สามารถรับรู้จับต้องได้ ก็คือความมุ่งหมายของไกรสร ในการให้การยกย่องสรรเสริญ การกระทำความดีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม ของบรรดาประชาชนพลเมืองที่ขณะลงมือทำความคิดเหล่านั้นมิได้คาดหวังหรือต้องการรางวัลตอบแทนใดๆ หากแต่ทำด้วยจิตสำนึกดีงาม และความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กับเพื่อนร่วมสังคม แม้หลายครั้งในหลายกรณี จะปรากฏว่าการตัดสินใจทำความดีของเขาหรือเธอคนนั้น นำมาซึ่งค่าตอบแทนราคาแพง นั่นก็คือการแลกด้วยชีวิต…ก็ตาม
ไกรสรต้องการให้ความดีและความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเขา ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน และงอกเงยงอกงามตลอดไป ไม่อยากให้การทำความดีของบรรดา “พลเมืองดี” ต้องหดหายหมดเลือนหรือสูญพันธุ์ ไกรสรจึงลงมือลงแรง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งการยกย่องสรรเสริญน้ำใจและการทำความดีและการทำความดีของพวกเขาพวกเธอเหล่านั้น จะได้ไม่กลายเป็น “ความสูญเปล่า” อันไร้ค่า
ฉะนั้น…บรรดาดวงดาวกระดาษจำนวนมากมายหลายสิบดวงที่ได้รับการแขวนห้อย ระโยงระยางอยู่ใต้เพดานห้องนิทรรศการของ “หอศิลป์ จามจุรี” ในขณะนี้ ก็คือกระบวนการ รูปแบบ และกลวิธีหนึ่งของการแสดงออกเพื่อการเชิดชู ยกย่อง ให้กำลังใจกับการทำความดีของบรรดา “พลเมืองดี” แต่ละคนในสังคม เพื่อที่ว่าเมล็ดพันธุ์ความดีความงาม ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรระหว่างคนต่อคน จะได้หยั่งราก งอกเงย เติบโตแผ่ขยายออกไปอย่างยั่งยืน ในจิตใจ ในสำนึกรู้คิดของสมาชิกร่วมสังคมเดียวกับไกรสร
ทั้งนี้ ภาพวาดที่ปรากฏอยู่บนดาวจำนวนกว่าครึ่งค่อนที่แขวนห้อยเรียงรายในห้องนิทรรศการ เกิดจากความร่วมมือของคนทำงานศิลปะมากหน้าหลายตา ที่ไกรสรออกปากชักชวนมาช่วยกันวาดถ่ายทอด ซึ่งสามารถสื่อนัยถึงการร่วมแรงร่วมใจ เพื่อโอบอุ้มความดีงานให้แผ่ขยายสืบเนื่องต่อๆ ไปอย่างยั่งยืน
ผู้อ่านที่สนใจนิทรรศการศิลปะทั้งสองรายการ สามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมได้ตามสะดวก โดยนิทรรศการประติมากรรม “IN COMMENSURABLE” ของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ชมได้ที่ “ศิลปะสถานนำทอง” ในซอยอารีย์ 5 ฝั่งเหนือ ละแวกถนนพหลโยธิน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. เว้นวันอาทิตย์ ซึ่งนิทรรศการชุดนี้ จะเปิดแสดงจนถึงวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 นี้ เท่านั้น
ส่วนนิทรรศการศิลปะ “ดาวพลเมืองดี” ของ ไกรสร ประเสริฐ นั้น เยี่ยมชมได้ที่ “หอศิลป์ จามจุรี” ริมถนนพญาไท ในเขตรั้วของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ไกลจาก “ห้างสรรพสินค้ามาบุณครอง” หรือย่านสยามสแควร์สักเท่าไหร่ นิทรรศการเปิดแสดงจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2560 เข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. โดยประมาณ ไม่มีวันหยุด ยกเว้นวันนักขัตฤกษ์ ใครสนใจนิทรรศการไหน ก็เลือกสรรกันตามความชื่นชอบนะครับ