จรัสแสงในความมืดรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560
การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความวิปโยคยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทุกคน ผู้ต้องขังหญิงและชายล้วนใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะกราบถวายสักการะรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดี
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี จัดทำสารคดี “จรัสแสงในความมืด” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรด้านความยุติธรรมทางอาญา
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคน ซึ่งควรได้รับโอกาสที่เสมอภาคกัน พื้นที่ของเรือนจำท้าทายให้คณาจารย์และนักศึกษาเรียนรู้การเอาชนะอุปสรรคความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสของชีวิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใช้ความรู้ ทักษะ และมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาและการเรียนรู้ไม่ถูกตีกรอบอยู่เพียงในมหาวิทยาลัยและผู้มีโอกาสดีในสังคมเท่านั้น
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วม พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำกลางอุดรธานีและเรือนจำกลางราชบุรีมาตั้งแต่ปี 2556 โดยดำเนินโครงการ “บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบยุติธรรมทางอาญา” ซึ่งเป็นโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ปี 2558 สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการเดิม มีชื่อว่า “โครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย” โดยร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานีทำกิจกรรมหลายอย่าง เป้าหมายสำคัญคือการให้ผู้ต้องขังน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้า “โครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย” กล่าวว่า โครงการนี้นำคณาจารย์และนักศึกษาทำกิจกรรมหลายๆ กิจกรรม เช่น การพัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังแบบองค์รวม การพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในเรือนจำ การพัฒนาพลังสร้างสรรค์และทักษะการทำงานผ่านการผลิตผลงานที่มีการออกแบบที่สวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาด การสร้างศูนย์เชื่อมโยงเรือนจำกับสังคม
ผศ.ธีรวัลย์กล่าวต่อว่า “ตลอดระยะเวลาที่คลุกคลีกับผู้ต้องขัง เริ่มต้นจากการเข้าไปศึกษาชีวิตผู้ต้องขังหญิงในโครงการวิจัยชีวิตที่ถูกลืม ทำให้ทราบว่าผู้ต้องขังมีจิตใจที่ห่อเหี่ยว เป็นโรคซึมเศร้า เห็นแล้วสงสาร ไม่ได้รับรู้ชีวิตที่อยู่ข้างนอกเลย ขาดการติดต่อ ผู้ต้องขังบางคนอาจตกเป็นเหยื่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
โยคะในเรือนจำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงใช้เวลาในเรือนจำฝึกร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพดี มีสมาธิ อดทน มุ่งมั่น และตระหนักถึง ความสุขจากภายใน ซึ่งเกิดขึ้นจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีต่อพสกนิกร ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ก้าวพลาดจนต้องมาอยู่ในเรือนจำ พระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นทำให้ชีวิตที่ตกอยู่ในความมืดได้รับแสงสว่างและจรัสแสงอยู่ในความมืดได้อย่างภาคภูมิใจ”
สารคดี “จรัสแสงในความมืด” แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณเชื่อมโยงกฎหมาย ความยุติธรรม กับความสุขของประชาชน เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ต้องขังซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง จนสามารถก้าวข้ามโศกนาฏกรรมและความทุกข์ที่ต้องเผชิญอย่างมีความหวัง ออกอากาศทางช่อง NBT และ NBT Network และรับชมได้ผ่านช่องทางยูทูบ
C-170112037065

C-170112012128

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]