
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560
“เกิดมาก็เป็นเกษตรกร พ่อแม่ทิ้งมรดกที่ดินเอาไว้ให้ ที่ผ่านมาทำเกษตรเคมีมาตลอด ไม่ร่ำรวยสักที พอมีกินมีใช้ไปวันๆ จนมาได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี มีโอกาสเดินทางไปดูงาน โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ที่ จ.เพชรบุรี น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่ เดินตามรอยเท้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9”
ลุงเล็ก ทองต้น ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อน คิดเสมอว่าทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ หากเป็นชาวนาปลูกข้าวอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะข้าวปลูกแล้วต้องใช้เวลาเป็นร้อยวันจึงจะเก็บเกี่ยวขายได้ แต่เมื่อไปดูงานโครงการพระราชดำริ หลายครั้ง หลายแห่ง เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้รู้…การทำไร่นาส่วนผสม ลดใช้สารเคมี จะไม่มีคำว่า ขาดทุนเลย
การทำเกษตรไร้สารเคมี ช่วงแรกๆอาจจะเห็นผลช้า แต่ส่งผลดีต่อธรรมชาติและต่อตัวเราเอง การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พยายามหาข้อมูลต่างๆ จนพบว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อยู่ในพื้นที่ของเราเอง มีของดี มีสารชีวภาพมาทดลองใช้แล้วได้ผลดี จึงไปขอให้อาจารย์ และทีมงานมาวิจัย พบว่าดินมีสภาพเป็นกรด มีค่า ph 3-4 สภาพดินแข็งไม่ร่วนซุย เพราะเราใช้สารเคมีมานาน เขาจึงให้เราทดลองใช้นวัตกรรมชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ พร้อมกับคิดค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพมาให้
เริ่มนำสารชีวภาพมาปรับปรุงพื้นที่ 50 ไร่ ให้เป็นไร่นาสวนผสม ทำนา 10 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมัน 40 ไร่ แซมด้วยกล้วยน้ำว้า เลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว เลี้ยงปลาหมอชุมพรในบ่อ กับเลี้ยงปลาเบญจพรรณ ไว้ในร่องสวนไว้ด้วย
ผลที่ได้ต่างผิดกับเมื่อก่อน…ชนิดหน้ามือกับหลังมือ
จากเดิมทำนา 50 ไร่ ได้ข้าวเก็บไว้กินเอง และขาย รายได้มีพอให้ใช้จ่ายแบบปีชนปี แค่ไม่เป็นหนี้ใคร
แต่พอเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม ทำนา 10 ไร่ ปีละ 2 ครั้ง ได้ข้าวเปลือก 9 ตัน สีเป็นข้าวสารได้ 5.4 ตัน ตันละ 40,000 บาท ทุกๆสองเดือนตัดปาล์มขายได้เฉลี่ย 80,000 บาท ขายไข่ขายปลา กล้วยน้ำว้า…ลุงเล็ก บอกแบบเหนียมๆ ว่า หลังหักลบกลบหนี้ มีเงินเหลือสบายๆ ปีละแค่ครึ่งล้านเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้จึงพยายามชักชวนชาวบ้านที่เข้ามาดูงาน ศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้แนวคิด ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า ราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าทำเกษตรผสมผสาน จะมีทางเลือกที่ทำให้อยู่รอดได้ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ ไม่กระทบรายได้สักนิดเลย
อยากเรียนรู้วิธีคิดทำเกษตรแบบ ลุงเล็ก 18-20 ม.ค.นี้ ไปพบกันได้ที่งาน นวัตกรรมสร้างสรรค์ มทร.ธัญบุรี คลองหก.ไชยรัตน์ ส้มฉุน
C-170116009028