
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560
โครงการ Young Artists Talent ครั้งโที่ 8 หรือโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 8 โครงการประกวดผลงานศิลปะร่วมสมัยจากเยาวชนทั่วประเทศในระดับอุดมศึกษา ที่จัดต่อเนื่องกันมาแล้วเป็นครั้งที่ 8 ในปีนี้มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกว่า 166 คนจากทั่วประเทศ ก่อนคณะกรรมการจะคัดเลือกเหลือ 70 คน เพื่อเข้าค่ายพัฒนาฝีมือ ณ จังหวัดจันทบุรี กับบรรดาศิลปินแห่งชาติ และสุดท้ายคัดเลือกเพื่อไปศึกษาดูงานที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี จำนวน 10 คน
ศ.เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติและคณะกรรมการในงานครั้งนี้ กล่าวว่า หัวใจของโครงการในครั้งนี้ก็คือ การให้โอกาสกับเด็กๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย ค่ายนี้จะมีประสบการณ์จากศิลปินแห่งชาติท่านต่างๆ มีทริกและเทคนิคให้เยาวชนได้เก็บเกี่ยวมากมาย ตัวโครงการนี้ก็ได้พยายามกระจายโอกาสออกไปให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จาก 166 คนที่สมัครส่งผลงานเข้ามา ก็คัดเหลือ 70 คนมาสร้างสรรค์ผลงานที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อคัดเลือกผู้ที่จะได้ไปดูงานที่เวนิซทั้งหมด 10 คน
ศ.เดชายังกล่าวต่อว่า ในปีนี้เราได้เห็นความหลากหลายที่มากขึ้น ผลงานที่มีความสดใหม่ กล้าคิด กล้าทำ หลายชิ้นมีประสิทธิภาพ สามารถโกอินเตอร์ได้ ในโครงการนี้เรามีการบรรยายให้เด็กฟังไม่ใช่เฉพาะแค่ศิลปะ ยังมีเรื่องของกฎหมายที่ศิลปินต้องรู้ เพราะปีนี้มันปี 2560 การจะเป็นศิลปินที่ดีต้องมีความรู้ในส่วนอื่นๆ ด้วยถึงจะสร้างผลงานออกมาได้สมบูรณ์ สุดท้ายก็คาดหวังว่าเด็กเหล่านี้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้รับการคัดเลือก ก็หวังให้เขาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีต่อไปในอนาคต ได้เติบโตไปสอนคนรุ่นต่อไป อนุรักษ์ศิลปะของชาติเอาไว้ได้
ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติและคณะกรรมการอีกท่าน ได้เล่าว่า การคัดเลือกผลงานนั้นจะเป็นการลงคะแนนจากคณะกรรมการทุกท่านที่จะมาจากผลงานศิลปะ กิจกรรมต่างๆ ในค่าย การพูดคุย เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมที่สุด ในขั้นตอนแรกนั้น 166 คนจะต้องสร้างสรรค์ผลงานในหัวข้อ “โลกอนาคต” ไม่จำกัดเทคนิค และคัดเลือก 60 คนมาเข้าค่ายที่จังหวัดจันทบุรี และสร้างสรรค์ผลงานในหัวข้อ “จันทบุรี” ก่อนจะคัดเลือก 10 ผลงานเพื่อไปศึกษาดูงานที่เวนิซ 9 ผลงานนั้นมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการ ส่วนอีก 1 ผลงานนั้นมาจากการโหวตทางอินเทอร์เน็ต
อีกด้าน ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติและคณะกรรมการ กล่าวเสริมว่า ผลงานในปีนี้นับว่าสุดยอดมาก เยาวชนสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง คณะกรรมการทั้ง ดร.กมล ทัศนาญชลี, ศ.เดชา วราชุน, ศ.ปรีชา เถาทอง, อ.ปัญญา วิจินธนสาร ซึ่งการตัดสินผลงานในวันนี้ถือว่าเป็นงานยากมาก เกณฑ์การตัดสินจะดูรวมไปทั้งแนวคิด ตัว
ตน ที่สอดคล้องกันทั้งภาพที่ 1 และ 2 การตีความของเยาวชนในทั้ง 2 หัวข้อ ซึ่งก็ต้องบอกว่าทำและตีความกันออกมาได้ดีมาก จากปีแรกๆ ที่เยาวชนจะไม่กล้าฉีกกรอบ แนวศิลปะก็จะมาแบบไทยๆ ส่วนปีนี้นั้นจะหลากหลายมากขึ้น มีความเป็นสากลมากขึ้น
เยาวชนทั้ง 9 คนที่ได้ไปศึกษาดูงานที่เวนิซ ได้แก่ 1.ธนพล ขวัญทองยิ้ม จากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา 2.ธีระพล รินทร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.เปจัง มิตรสาธิต จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ 4.ภัทราภรณ์ จันทร์รักษ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 5.สาวิณี ผันสนาม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 6.วานิตย์ นิ่มอนงค์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 7.ปาลฉัตร ยอดมณี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 8.ธีรพล สีสังข์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 9.เกรียงไกร แก้วสุวรรณ์ ส่วนคนที่ 10 คนสุดท้ายนั้น จะเปิดโหวตผ่านทาง www.YoungArtistsTalentthailand.com ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคม
เปจัง มิตรสาธิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลงานชิ้นแรกที่ส่งเข้ามาประกวดนั้นมีชื่อว่า “ช่วยกัน อบอุ่น” เป็นภาพงานวันคริสต์มาสของชนเผ่าของตัวเอง จากโจทย์โลกอนาคตนั้น โลกอนาคตมันเป็นสิ่งที่เดายาก ไม่รู้มันจะมายังไง ผลงานที่อยากจะสื่อออกมาคือความสนุกในวันคริสต์มาสของบ้านผมที่อมก๋อย ที่มีความสุข สนุกสนาน ส่วนผลงานชิ้นที่ 2 ชื่อว่า “เย้” เป็นผลงานที่มีแรงบันดาลใจมาจากการมาที่จันทบุรีเป็นครั้งแรก มันเต็มไปด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ ความประทับใจมากมาย จึงเลือกที่จะนำเอาวัสดุที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้มาขูดขีดให้เกิดเป็นผลงานศิลปะสีน้ำมันที่มีความสนุกสนาน
อีกด้าน ฟิฏตรี มั่นใจเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าถึงผลงานว่า ชิ้นแรกมีชื่อว่า “Consumerism” เป็นผลงานที่พูดถึงเรื่องของโลกการสื่อสารไร้พรมแดนในอนาคต ที่การสื่อสารจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิต และอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ทุกคน ส่วนชิ้นที่ 2 ที่ทำที่จังหวัดจันทบุรี มีชื่อว่า “มายจันทร์” เป็นผลงานที่มีแรงบันดาลใจมาจากการที่ได้มาจันทบุรีครั้งแรก เห็นถึงความเก่าแก่ของเมืองสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ซึ่งถือเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม เหมือนกับบ้านของเราที่อยู่ปัตตานีที่มีความหลากหลายเช่นกัน ซึ่งการเข้าค่ายครั้งนี้จึงให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน
ฟิฏตรียังบอกว่า การมาเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้นับว่าเปิดโลกเป็นอย่างมาก ได้เจอเพื่อนๆ มากมายทุกภาค ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แนวคิด ขั้นตอนการทำงานที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง มีคอน เน็กชั่น การจะได้ไปเวนิซนั้นถือว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย แค่นี้มันก็มีค่ามากแล้วที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของค่ายในวันนี้.
C-170125008071