คอลัมน์ หมายเหตุประชาชน: ทรงเป็นแรงบันดาลใจ’ลุงเล็ก’ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
นภาพร พานิชชาติ napapornp@dailynews.co.th
จากที่ดินที่เคยทำเกษตรเคมี ปัจจุบันพื้นที่กว่า 50 ไร่ ของคุณลุงเล็ก ทองต้น วัย 71 ปี ได้กลายเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม ที่ไม่เพียงแค่ทำ ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญต่อบรรดาเกษตรกร
คุณลุงเล็ก ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี อดีตผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม เกษตรกรชาวจังหวัดปทุมธานี ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ตัวจริง ทำเกษตรไร่นาสวนผสมลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำได้ไม่มีขาดทุน เดินตามรอยเท้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ชาวจังหวัดปทุมธานี
กว่า 10 ปีบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ลุงเล็กคิดเสมอว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ มีเงินใช้เหมือนตอนที่รับเงินเดือนของข้าราชการ” และแรงบันดาลใจก็คือ ในหลวงรัชกาล ที่ 9 พ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อครั้งได้มีโอกาสไปดูงานในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ก่อนจะนำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ของตนเอง ให้กลายเป็นไร่นาสวนผสม
“การไปดูงานโครงการชั่งหัว มันในครั้งนั้น ทำให้ผมคิดว่า “ชาวนาจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้” อายุข้าวกว่าจะเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 105 วัน จึงได้กลับมาปรับพื้นที่ 50 ไร่ที่มีอยู่ ให้เป็นนา 10 ไร่ ปาล์ม 40 ไร่ ปลูกกล้วยแซมในสวนปาล์ม เลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว เลี้ยงปลา โดยปาล์มสามารถตัด 2 ครั้งต่อเดือน หรือ 24 ครั้งต่อปี กล้วยน้ำว้า ตัด 2 ครั้งต่อเดือน ส่วนข้าวเกี่ยว 2 ครั้งต่อปี ทำให้มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายได้ตลอดทั้งปี”
คุณลุงเล็ก บอกว่า ในการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ช่วงแรกอาจจะเห็นผลช้า แต่ดีกับธรรมชาติ ผมได้เรียนรู้บนเส้นทางของเกษตรพอเพียง ค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพเอง ศึกษาหาข้อมูลตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในชุมชน จนพบว่าคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มีการนำชีวภาพมา ใช้ จึงได้ทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยฯ อาจารย์และทีมงานลงพื้นที่สำรวจ และเข้ามาทำการวิจัยและทำการทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) มาใช้นาข้าว ปาล์ม และได้เข้ามาบริการองค์ความรู้ให้กับศูนย์ ศพก.อีกด้วย
คุณลุงเล็ก ได้บอกถึงความแตกต่างของการใช้สารเคมีและสารชีวภาพว่า การทำนาข้าวจากที่ลงทุน 5,000 บาทต่อไร่ เหลือเพียง 1,700-2,200 บาทต่อไร่ ได้ปริมาณข้าวเปลือก 1 ไร่ต่อ 1 ตัน เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีไม่ลีบแบน เพิ่มการแปรรูปข้าวเปลือก เป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.บึงกาสาม มีเครื่องสีข้าว ตนเองจะนำข้าวที่ได้มาสีเพื่อนำไปขาย ชาวบ้านในชุมชนนำข้าวเปลือกมาสี คิดกิโลกรัมละ 2 บาท ข้าวเปลือกสีเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้จาก 8,500 เป็น 35,000 บาทต่อเกวียน และที่สำคัญเมื่อได้รายได้หรือใช้จ่ายมาแต่ละครั้ง ต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย
“ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร อยากให้เกษตรลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม”
ปัจจุบันพื้นที่นี้ได้กลายเป็นชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ โดยที่ผ่านมา ได้รับรางวัลการันตีว่าเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2553 และในปี 2556 ยังได้รับการประกาศว่าเป็น ศูนย์การเรียนรู้ดีเด่น จากกรมส่งเสริมเกษตรกร ทางชุมชนยังเข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม จังหวัดปทุมธานี แบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
คุณลุงเล็ก เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ที่ได้น้อมนำศาสตร์ของรัชกาลที่ 9 มาใช้ ตามรอยแบบพอเพียง ถึงแม้นว่าราคาของสินค้าเกษตรจะผกผันตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณลุงเล็กแต่อย่างใด.

C-170202035043

 

C-170202004006

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]