คอลัมน์ สถานีบ้านเรา: ปฏิทิน ๒๐๑๗-สารคดีจรัสแสงในความมืดผู้ต้องขังหญิงแสดงโยคะในเรือนจำกลางอุดรธานี

           สารคดีถวายสักการะแสดงความอาลัยเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อพสกนิกรในด้านความยุติธรรมทางอาญา “จรัสแสงในความมืด” ในคืนที่มืดมิดเท่านั้นที่ดวงดาวจะฉายแสงเจิดจรัส แต่ชีวิตอันมืดมิดของผู้ที่จะต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ มีความหวังอันริบหรี่ที่จะทอแสงและเปล่งประกาย ในสังคมตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ได้เหือดหายไปนับตั้งแต่ที่เข้ามาอยู่ใน       เรือนจำ

          (ภาพเปลวเทียน) เสียงปิดประตูเหล็กแผ่นใหญ่ของเรือนจำดังปังปิดสนิท เป็นการปิดกั้นผู้ต้องขังหญิงให้อยู่หลังกำแพงไม่ได้รับรู้โลกจากภายนอก “ตอนนั้นหนูอายุ ๒๓ ปี ครอบครัวก็ยากจน ตัวหนูเองต้องทำงานรับจ้างทุกอย่างที่เขาจ้างมา แฟนหนูสอนให้เสพยา เพื่อนโทรศัพท์มาสั่งหนูให้ข้ามไปฝั่งลาว ให้มาเอาสตางค์เฉยๆ แต่พอไปถึงจริงๆ หนูต้องรออยู่ ๓๐ นาที เมื่อเขามาถึงก็ให้หนูกลับมาพร้อมกับยา ๑๐ เม็ด เขาบอกว่าให้เอายาไปด้วย แล้วหนูถามว่าไปแล้วมันจะมีปัญหาไหม เขาบอกว่าไม่มีปัญหา  แล้วถ้าไม่มีปัญหาหนูเอาไปได้ นั่งเรือข้ามฟาก พอนั่งไปได้เพียงครึ่งทาง ตำรวจก็เข้ามาตรวจบอกว่าหนูมียาไว้ครอบครอง ตรวจเจอยา ๑๐ เม็ด เอาตัวหนูไปส่งที่ศาล ศาลตัดสินหนู ๒๕ ปี หนูยอมรับผิดว่าหนูเอายามาจริง แต่หนูไม่รู้ว่า (ร้องไห้) โทษมันจะหนักขนาดนี้ แต่ทำไมคนอื่นเขามียาตั้ง ๒๐๐ เม็ดแล้วเขาตัดสินมาแค่น้อยเดียวเอง แล้วทำไมหนูมียา ๑๐ เม็ดตัดสินมา ๒๕ ปีด้วย”
(ข้อความ) กฎหมายไทยกำหนดโทษของการนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรรุนแรงมาก แม้การนำเข้ายาบ้าเพียงน้อยนิด ๑-๑๐ เม็ด โทษจะสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับผู้ที่เดินทางข้ามไปมาตรงบริเวณชายแดน การมียาเสพติดเพื่อไว้เสพเพียงไม่กี่เม็ดจึงนับเป็นโทษที่หนักมาก อย่างที่เรียกว่าผู้กระทำความผิดคาดไม่ถึงว่าจะได้รับโทษมากมายเพียงนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐ ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐ แล้ว และมีผลบังคับใช้แล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่เปิดโอกาสให้พิจารณาจากพฤติการณ์หรือคำนึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำความผิด และไม่ได้ให้สิทธิ์ผู้ต้องหาหรือจำเลยในการพิสูจน์ความจริงในคดี โดยให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริง ซึ่งศาลอาจพิจารณาโทษจำคุกได้ตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากขึ้น
ในสารคดีจรัสแสงในความมืดเริ่มต้นด้วยพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดินและเป็นเสาเข็มของบ้านเมือง ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หมายถึงการจัดระบบสังคมและวิถีการดำรงชีวิตในทุกๆ ด้าน โดยกฎหมายต้องไม่เบียดเบียนประชาชน และมีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ กลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคม ลดการกระทำผิดซ้ำ เป็นประชากรที่มีคุณภาพ นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบ สุข
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิตแก่ประชาชน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ และถ่ายทอดอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ ๔ ธ.ค. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวังในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่ออยู่ได้แม้ในโลกที่มีการแข่งขันสูง
ข้อความตอนหนึ่งว่า “การนำบทบัญญัติที่ปฏิบัติไม่ได้ตามสภาพที่เป็นจริงของชีวิตมาบังคับใช้เป็นต้นเหตุแห่งความเดือดร้อน แตกแยกในชาติและประชาชน บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นได้ ต้องตราขึ้นตามสภาพการณ์และสภาพชีวิตที่แท้จริงของบ้านเมืองและบุคคล”  พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา  ณ ศาลาดุสิดาลัย ๗ ส.ค. ๒๕๑๔
ในอีกตอนหนึ่งของสารคดี ผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า “ตอนนั้นหนูไปกินข้าวกับเพื่อน กินข้าวเสร็จก็ขี่รถออกมา พอขี่รถออกมาสักพักหนึ่ง มองไม่เห็นน้องก็เลยวนรถกลับไปดูอีกครั้งหนึ่ง เห็นน้องโดนตี เพื่อนที่ไปด้วยก็เลยลงไปช่วยน้อง แต่ตัวหนูเองอยู่บนรถ เสร็จแล้วก็เลยกลับมาขี่รถกลับมา น้องก็คิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอวันรุ่งขึ้นต่อมาตำรวจก็มารวบตัวที่ห้อง เชิญไปให้ปากคำอยู่ที่โรงพัก หนูก็ไปเพราะคิดว่าก็คงไม่มีอะไร พอให้ปากคำเสร็จ ตอนแรกหนูก็คิดว่าหนูจะได้กลับ แต่ตำรวจพาเข้าห้องขัง ส่งตัวมาที่เรือนจำ แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจนถึงวันตัดสิน   ศาลตัดสินหนู ๒๘ ปี ๒ เดือน ไม่ลดโทษให้ ตัวหนูเองก็เลยทำอุทธรณ์อีก พออุทธรณ์ได้ลดโทษอีก ๑๒ ปี ๒๔ เดือนในฐานความผิดยุยงส่งเสริม จากวันนั้นจนถึงวันนี้หนูติดคุกมา ๕ ปีแล้วค่ะ เหลือโทษจำคุกอีก ๒ ปี ในความรู้สึกของหนู ตอนนี้หนูยังคิดอยู่เสมอว่าคนไม่ผิดจะติดคุกได้อย่างไร หนูเชื่อแบบนี้ค่ะ”
ในส่วนของความยุติธรรมทรงย้ำเตือนว่า ความสุขของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ สังคมจะต้องมีความยุติธรรม และผู้ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมต้องอยู่บนรากฐานของศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทมีว่า “กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ให้เป็นแบบแผนเป็นความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติเหล่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย…การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำเป็นต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ๗  ส.ค. ๒๕๑๕
สำหรับผู้ที่จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตทำให้ผู้ต้องขังตระหนักถึงการสร้างความสุขจากภายใน และการทำคุณงามความดี ซึ่งต่างจากความสุขอันเกิดจากการครอบครองวัตถุหรือสิ่งของฟุ่มเฟือย เป็นความสุขที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักการแบ่งปัน รวมทั้งให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช้อำนาจเผด็จการข่มขู่หรือออกกฎเกณฑ์กติกามาบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นความสุขในระดับ จิตวิญญาณ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานีได้ดำเนินโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย “เราได้ร่วมกับอาจารย์ นักศึกษา  และเรือนจำ ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีความภาคภูมิใจที่สามารถจะลุกขึ้นมาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง  สร้างความรู้ให้ตัวเอง พร้อมที่จะยืนหยัดการพัฒนาตนเอง โยคะในเรือนจำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ผู้ต้องขังหญิงใช้เวลาในเรือนจำเพื่อฝึกหัดร่างกายและจิตใจ”
สารคดีจรัสแสงในความมืด ที่ปรึกษา: นางจันทิมา เชยสงวน รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย ขอขอบคุณโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  เรือนจำกลางอุดรธานี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,  นางเพียงใจ แสงวิจิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางอุดรธานี ผู้ต้องขังหญิงและชายเรือนจำกลางอุดรธานี คณะวิจัยโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย อำนวยการผลิต: เรือนจำกลางอุดรธานี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
โยคะในเรือนจำส่งผลให้ผู้ต้องขังหญิงมีสุขภาพดี มีสมาธิมีความอดทนมุ่งมั่นและตระหนักถึงความสุขจากภายใน ท่วงท่าของโยคะไม่เพียงแต่มีความสวยงาม ยังเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความอดทน ความมุ่งมั่น สมาธิและความสุขอันเกิดจากภายใน การจัดทำสารคดีถวายสักการะเรื่องจรัสแสงในความมืด เกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกร ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ก้าวพลาดจนต้องมาอยู่ในเรือนจำ พระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นทำให้ชีวิตที่ตกอยู่ในความมืดได้รับแสงสว่าง และสามารถจรัสแสงอยู่ในความมืดได้อย่างภาคภูมิใจ
ภาพโยคะและการแสดงในสารคดีจรัสแสงในความมืด ได้รับการอนุญาตให้เปิดเผยใบหน้าจากผู้ต้องขังหญิงที่แสดงโยคะ คณะผู้ร้องเพลงหญิงและชาย และผู้ต้องขังชายที่บรรเลงดนตรีประกอบ
“ชีวิตนั้นพบได้ในขณะปัจจุบันเท่านั้น อดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ถ้าเราไม่กลับตัวเองมาสู่ปัจจุบันขณะ เราจะไม่มีวันสื่อสารกับชีวิตของเรา ไม่สำคัญว่าเราได้ทำไปมากเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ความรักลงไปในสิ่งที่เราทำมากแค่ไหน”.

C-170219008015

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]