ฮือฮาภาพวาดจิตรกรรมร่วมสมัยปริศนาธรรม 3 มิติ เสมือนจริงแห่งแรกของโลก ถูกวาดและติดตั้งไว้ภายในเจดีย์พุทธคยาจำลอง วัดปัญญานันทาราม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แต่ละภาพสอดแทรกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอริยสัจ 4 – ความจริงอันประเสริฐ ผ่านการตรวจตีความอย่างละเอียดจากหลวงพ่อปัญญานันทมุนี (ส.ณ. สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ และพระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี เป็นเจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม พร้อมติดตั้ง และเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังปริศนาธรรม 3 มิติ ถูกเปิดเผยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร ธุรี อาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ร่วมกับวัดปัญญานันทาราม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริการวิชาการสังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐอธิการบดี มทร.ธัญบุรี จึงได้มอบให้ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทำการวาดภาพปริศนาธรรม 3 มิติดังกล่าวขึ้น จำนวนทั้งหมด 29 ภาพ เพื่อติดตั้งบริเวณฝาผนังชั้นล่างห้อง “ปัญญา” เจดีย์พุทธคยาจำลอง วัดปัญญานันทาราม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นายสมพร กล่าวอีกว่า การสร้างผลงานภาพปริศนาธรรม 3 มิตินี้ เป็นประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกันทั้งในส่วนของบุคลากรผู้สอนและนักศึกษา รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลจากจิตรกรรมฝาผนังในสมัยศิลปะรัตนโกสินทร์ และภาพปริศนาธรรมในโรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลารามของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ นำมาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยดังกล่าว โดยภาพปริศนาธรรม 3 มิติจะสอดแทรกหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาในเรื่องอริยสัจ 4 เพราะการที่จะเข้าถึงปัญญาเพื่อรู้เท่าทันความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของโลก จะต้องเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ซึ่งผู้เข้าชมสามารถสัมผัสผลงานศิลปะดังกล่าวนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมไปภาพอย่างเพลิดเพลิน ชวนให้คิดและตระหนักถึงหลักธรรมคำสอนอย่างเพลิดเพลิน สนุกสนาน และไม่น่าเบื่อ
“ภาพปริศนาธรรม 3 มิติทั้งหมดเกี่ยวกับอริยสัจ 4 ได้รับความอนุเคราะห์ตรวจตีความก่อนที่จะวาดและติดตั้งดำเนินการจริงจากหลวงพ่อปัญญานันทมุนี (ส.ณ. สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ และพระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี เป็นเจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม จึงทำให้บุคลากรผู้สอนและนักศึกษา มทร.ธัญบุรี สามารถถ่ายทอดเรื่องราวอริยสัจ 4 ได้อย่างลงตัว กลมกลืน และสอดคล้องกับบรรยากาศของวัดซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดปัญญา โดยใช้สีน้ำอะครีลิค วาดลงบนผ้าใบแคนวาส แล้วนำไปติดตั้งบนผนัง เก็บรายละเอียดงาน วาดรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความเสมือนจริง จากนั้นเคลือบน้ำยาพิเศษเพื่อให้ผลงานเงางาม ทนทานและสามารถใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายยิ่งขึ้น แล้วจึงติดตั้งหลอดไฟส่องสว่าง เพื่อให้มีมิติและมีความเสมือนจริงมากที่สุด ให้ความรู้สึกของคนที่เข้าไปร่วมสัมผัสเป็นส่วนหนึ่งของ ผลงาน อันจะมีผลต่อการรับรู้หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง สร้างสุนทรียภาพต่อความรู้สึกและจิตใจ และทำให้เกิดการบอกเล่าต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์และนักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สู่การปฏิบัติงานจริงในสาขาวิชาที่ได้ศึกษา อยากให้ทุกคนเข้ามาเห็นความงามของศิลปะแห่งนี้ เพราะศิลปะช่วยกล่อมเกลา จิตใจและลดความแข็งกระด้างของคนลงได้ ผลงานทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน” นายสมพร กล่าว
สำหรับภาพปริศนาธรรมทั้ง 29 ภาพ ประกอบด้วย ภาพตัณหานที (สื่อถึงตัณหาน้ำ 3 สระ) กายจิต (รูปธรรม-นามธรรม) นฤมิตจันทรคราส (ความสามัคคีราหูกับดวงจันทร์) อวิชชา-โลกาวินาศ (การแบกภาระหนักอันเป็นห่วงแห่งทุกข์) ฝนตกซัดสาด ห้วงน้ำท่วมใจ (ความสนุกสนาน จนลืมไปว่ามีอันตรายซ่อนอยู่) ไถนาดินแห้ง ร้อนแล้งขัดใจ (ความลำบากยากแค้น) เบญจบุปฝาพญามาร (หลงในความงามความเพลิดเพลิน) กิเลสมาร-กาลยักษ์ (พญากิเลส)สะพานมเหสักข์-ศีล(สะพานแห่งความไม่ประมาท) แม่น้ำคด-น้ำไม่คด อินทรีย์ (อายตนะ 6) ต้นไม้แห่งไตรลักษณ์ ความโลภ (ดิ้นรน ไม่เป็นสุข มีจิตหิวโหย) ความโกรธ (จุดไฟเผาตัวเอง) ความหลง (เห็นผิดไปจากสภาวธรรมที่แท้จริง) ความกลัว (สิ่งทำลายความสุข) บำเพ็ญนวโลกุตตรธรรม (เสพเสนาสนะอันสงบ) โลกธรรม 8 (อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู) ความพอใจและไม่พอใจ มหาเจดีย์แห่งการตรัสรู้ มรรคผล (ลำดับแห่งมรรคผล 4 ระดับ) วงล้อแห่งธรรม (การเผยแพร่พระพุทธศาสนา) และสุดท้ายเป็นภาพการหลุดพ้นนิพพาน ประกอบด้วย ภาพหลงยึดมายา ภาพทางสู่สวรรค์ และภาพนิพพาน (เรือสัมมาทิฏฐิ)